PEA Innovation Center ศูนย์พัฒนาและวิจัยด้านไฟฟ้า ก้าวสำคัญของ Energy 4.0

“การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกับหัวเว่ย ประเทศไทยเปิดPEA Innovation Centerศูนย์นวัตกรรม กฟภ. ผสานเทคโนโลยี IoTและคลาวด์ด้านพลังงานไฟฟ้า พร้อมหนุนความร่วมมือในการพัฒนาสู่การใช้งานเทคโนโลยี IoTและคลาวด์อย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนและต้นทุนการดำเนินงาน”

PEA The Electric Utility of the Future
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. (PEA) หน่วยงานหลักที่ให้บริการพลังงานไฟฟ้า หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศมีบทบาทสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน ตลอดระยะเวลา 58 ปีได้พัฒนาคุณภาพระบบไฟฟ้าและการบริการมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรและกลยุทธ์ในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

กฟภ. มีเป้าหมายในการบริหารงานและพัฒนาองค์กร มุ่งสู่การเป็น การไฟฟ้าแห่งอนาคต หรือ The Electric Utility of the Future บนหลักการ “พัฒนาคนด้วยนวัตกรรม พัฒนางานด้วยเทคโนโลยี”มุ่งมั่นให้บริการพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กับการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด ทั้งด้านคุณภาพและบริการ

ยุทธศาสตร์สำคัญพลิกองค์กรสู่การเป็น Digital Electric Utility
เสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวถึงยุทธศาสตร์และแผนพัฒนางานของ กฟภ. ที่กำลังก้าวไปสู่ยุคดิจิทัล โดยระบุว่ากฟภ. ได้วางนโยบาย PEA 4.0 ที่สอดรับกับนโยบายภาครัฐ Thailand 4.0 และนโยบายของภาคพลังงาน Energy 4.0 โดยอาศัยหลักการ พัฒนาคนด้วยนวัตกรรม พัฒนางานด้วยเทคโนโลยี

“กฟภ. ตั้งเป้าองค์กรสู่การเป็น Digital Utility ให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งได้กำหนดแผนปฏิบัติการดิจิทัลของ กฟภ. พ.ศ. 2561-2565 ที่ใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาองค์กรทั้งด้านธุรกิจและด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน มุ่งสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลในอนาคต”

ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการและเพิ่มความพึงพอใจในการให้บริการแก่ลูกค้านั้น ผู้ว่าการ กฟภ. ให้ความเห็นว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จที่สำคัญที่จะปฏิรูปองค์กรให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น การสานความสำเร็จของ กฟภ.ไปสู่ Digital Electric Utility จำเป็นต้องมีการศึกษาและวิจัยการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้ตรงตามทิศทางและตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ และผลักดันให้องค์กรก้าวสู่การเป็น Digital Utility ในปี 2565 โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการสร้างบริการที่ดีขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจ่ายไฟ และลดต้นทุนการดำเนินงาน