Cloud Maturity Model

Cloud Maturity Model ถูกนำมาใช้ประเมินความพร้อมขององค์กร และยังถูกใช้เป็นกรอบเพื่อการพัฒนาความสามารถด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง บทความชุดนี้จะนำเสนอแนวคิดของ Cloud Maturity Model และหลักไมล์ที่ใช้เป็นเป้าหมายเพื่อการพัฒนาความสามารถด้านคลาวด์คอมพิวติ้งขององค์กร

องค์กรที่จะใช้คลาวด์ต้องผ่านกระบวนการพัฒนาความสามารถอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ความยุ่งยากไม่ได้อยู่ที่ตัวเทคโนโลยี แต่อยู่ที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีจัดการการใช้ไอซีที รวมทั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีและโครงสร้างพื้นฐานของระบบซอฟต์แวร์

ที่สำคัญต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณจากการลงทุนมาเป็นค่าใช้จ่ายที่ประมาณการได้ยาก ซึ่ง Cloud Maturity Model ถูกนำมาใช้ประเมินความพร้อมขององค์กร และยังถูกใช้เป็นกรอบเพื่อการพัฒนาความสามารถด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง บทความชุดนี้จะนำเสนอแนวคิดของ Cloud_Maturity Model และหลักไมล์ที่ใช้เป็นเป้าหมายเพื่อการพัฒนาความสามารถด้านคลาวด์คอมพิวติ้งขององค์กร

สถานภาพการใช้และการให้บริการคลาวด์ของไทย

จากการศึกษาและติดตามพัฒนาการการใช้บริการและการให้บริการคลาวด์ของไทย พบว่าส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น และยังห่างไกลจากลักษณะการบริการตามคำนิยามของ NIST (National Institute of Standards and Technology) ที่ได้เคยนำเสนอไว้แล้วในบทความตอนก่อนๆ ซึ่งแนะนำให้แบ่งคุณสมบัติสำคัญ (Essential characteristics) ของบริการคลาวด์เป็นห้าประการดังนี้

1. ผู้ใช้สามารถบริการด้วยตัวเองเพื่อเพิ่มลดทรัพยากรไอซีทีตามความต้องการได้ (On-demand self-service)
2. ผู้ใช้สามารถใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายความเร็วสูงได้ (Broad network access)
3. ผู้ใช้ใช้ทรัพยากรไอซีทีร่วมกับผู้อื่นผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกันจากที่ต่างๆ ได้ (Resource pooling)
4. ผู้ใช้ได้รับจัดสรรทรัพยากรไอซีทีมากน้อยตามความต้องการได้ (Rapid elasticity)
5. มีระบบวัดปริมาณและระยะเวลาการใช้บริการ (Measured service) เพื่อคำนวณค่าบริการที่ใช้ตามความเป็นจริงได้

จากการสำรวจของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พบว่าผู้ให้บริการคลาวด์ของไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถให้บริการแบบ On-demand self-service และแบบ Rapid elasticity ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ลงทุนระบบวัดปริมาณการใช้งานแบบเรียลไทม์ (Measured service) ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้เองก็ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการทดลองใช้ และกำลังศึกษาผลของการใช้บริการคลาวด์

ในส่วนเกี่ยวกับรูปแบบบริการ (Service Model) นั้น พบว่า SaaS ส่วนใหญ่เป็นแค่นำระบบซอฟต์แวร์เดิมขึ้นคลาวด์ให้บริการในลักษณะ Single instance ยังไม่สามารถปรับให้บริการแบบ Multi-tenants ได้ และจำนวนหนึ่งเป็นการให้บริการด้วยระบบ Web apps ผ่านอินเทอร์เน็ต

สำหรับบริการ PaaS นั้น ส่วนมากเป็นบริการของบริษัทข้ามชาติจากศูนย์คอมพิวเตอร์ในต่างประเทศ การใช้ PaaS เป็น Development platform ก็ยังมีไม่มาก เนื่องจากผู้ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ประยุกต์งานที่อิงกับแพลตฟอร์มอย่างจริงจัง

ศูนย์บริการคลาวด์ของคนไทยที่ให้บริการ PaaS พอมีบ้าง แต่เนื่องจากไม่ได้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม จึงให้บริการเพียงแค่กลุ่มแพลตฟอร์มที่เป็น Open source software สำหรับการบริการรูปแบบ IaaS นั้นถึงแม้จะเป็นธุรกิจหลักของผู้ให้บริการคลาวด์ในขณะนี้ แต่ก็เพียงแค่ให้บริการเช่าใช้ทรัพยากรไอซีทีผ่านอินเทอร์เน็ต ยังไม่สามารถให้บริการครบคุณสมบัติสำคัญ (Essential characteristics) ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ในด้านผู้ใช้ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระยะศึกษาเพื่อกำหนดกลยุทธ์ ที่เริ่มทดลองใช้แล้วนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นงานขนาดเล็ก เมื่อถูกสอบถามส่วนใหญ่ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย และยังไม่ชัดเจนในด้านประโยชน์ที่แท้จริง

ความเข้าใจ Cloud Maturity_Model จะสามารถช่วยองค์กรพัฒนาความสามารถด้านคลาวด์คอมพิวติ้งอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อปรับใช้ไอซีทีรูปแบบใหม่อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

การใช้คลาวด์จำเป็นต้องมีการเตรียมตัว

องค์กรที่จะใช้คลาวด์ต้องมีการเตรียมตัวและปรับตัว ไม่ใช่เพื่อรับมือกับความยากของเทคโนโลยี แต่เพื่อสร้างความพร้อมด้านการจัดการและการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การเปลี่ยนแนวทางจัดการการลงทุนในสินทรัพย์ จนถึงการจัดการกับทรัพยากรไอซีทีและกระบวนการให้บริการไอซีทีในองค์กร

ยกตัวอย่างเช่น การใช้ Private cloud ไม่ใช่เพียงแค่ซื้อเทคโนโลยี Virtualization เพื่อนำ Server Storage และ Networks มาใช้ร่วมกัน แต่ความสำคัญอยู่ที่สามารถอำนวยการให้บริการผู้ใช้ด้วยทรัพยากรไอซีทีที่ต้องการแบบ On-demand เพื่อตอบโจทย์ของธุรกิจได้ คุณค่าของ Private cloud อยู่ที่สามารถจัดการทรัพยากรไอซีทีเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์

ประโยชน์ของคลาวด์ไม่ได้จำกัดอยู่ที่สามารถจัดการทรัพยากรไอซีทีอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความประหยัด แต่เป็นการใช้ไอซีทีแนวใหม่ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภคและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน การเตรียมความพร้อมเพื่อการใช้คลาวด์จึงเป็นเรื่องของการพัฒนาแนวทางการจัดการรูปแบบใหม่ ไม่ใช่เป็นเรื่องการเรียนรู้เทคโนโลยีสาขาใหม่

การสร้างความพร้อมเพื่อใช้คลาวด์คอมพิวติ้งจึงต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน เป็นการเปลี่ยนถ่ายกระบวนวิธีใช้ไอซีทีจากวิธีเดิมไปสู่วิธีใหม่ที่เปลี่ยนรูปแบบทั้งโครงสร้างพื้นฐานไอซีที โครงสร้างของระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้ ตลอดจนแนวทางจัดการบริการไอซีทีให้แก่ผู้ใช้ทุกระดับในองค์กร

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนากรอบแนวคิดเพื่อช่วยธุรกิจทำ Migration จากการใช้ไอซีทีแบบดั่งเดิมไปสู่คลาวด์คอมพิวติ้ง ภายใต้ชื่อ Cloud_Maturity Model หรือวุฒิภาวการณ์ใช้คลาวด์ ถึงแม้กรอบแนวคิดจะมีหลายหลาย แต่ก็คล้ายคลึงกัน แตกต่างกันเพียงในรายละเอียด กรอบแนวคิดเหล่านี้ นอกจากจะเป็นเครื่องมือช่วยประเมินความพร้อมของการใช้คลาวด์ ยังสามารถใช้เป็นกรอบเพื่อการพัฒนาการไปสู่การใช้คลาวด์คอมพิวติ้งแบบเต็มรูปแบบได้