“PMAT” ฟันธงแนวโน้มค่าตอบแทนรวม ปี 2566 เงินเดือนขึ้น 4.27% โบนัสคงที่ 1.44 เดือน

          “PMAT” เคาะตัวเลขการปรับอัตราค่าตอบแทนรวม ประจำปี 2565/2566 จากกลุ่มเป้าหมายหลากหลายอุตสาหกรรม 112 บริษัท ชี้แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยคาดว่าปีหน้าเงินเดือนขึ้นเฉลี่ย 4.27% โบนัสคงที่ 1.44 เดือนและโบนัสผันแปร 2.31 เดือน

สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) เปิดเผยแนวโน้มการปรับอัตราค่าตอบแทนรวมประจำปี 2565/2566 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยฉายภาพรวมการจ่ายค่าตอบแทนทั้งระบบ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ตลอดจนวิเคราะห์แนวโน้มสำคัญๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีถัดไป ให้ HR ได้เตรียมความพร้อมในการประเมินกลยุทธ์การบริหารค่าตอบแทนรวม เพื่อดึงดูดคนเก่งและรักษาคนดีมีฝีมือไว้กับองค์กร

“กลยุทธ์การบริหารจัดการคนในสถานการณ์ปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว การดึงดูดและรักษาคนเอาไว้ได้ จำเป็นจะต้องมีฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้ และการสำรวจของ PMAT เป็นการทำผลตอบแทนในภาพรวม ลงลึกไม่ใช่เฉพาะแค่เงินเดือน แต่จะรวมถึงผลตอบแทนอื่นๆ ประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ และเป็นเครื่องมือหลักสำหรับ HR ในการนำเสนอต่อผู้บริหาร ถึงโครงสร้างเงินเดือน และการวิเคราะห์แนวโน้มต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอนในปัจจุบัน HR จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ สามารถเปรียบเทียบตัวเองกับตลาดได้” สุดคะนึง ขัมภรัตน์ นายกสมาคม PMAT กล่าว

          วรกิต เตชะพะโลกุล และคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารเงินเดือน PMAT เปิดเผยว่า โครงการสำรวจ แนวโน้มการปรับอัตราค่าตอบแทนรวม ประจำปี 2565/2566 ที่สมาคมได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2565 นี้ เป็นปีที่ข้อมูลการจัดเก็บผิดแผกไปจากปี 2564 ที่ผ่านมา จากผลกระทบรอบด้านทั้งสงคราม รัสเซีย-ยูเครน วิกฤติโควิด และภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ดี การจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกในกลุ่มเป้าหมาย 112 องค์กรทุกขนาดธุรกิจ ยังถือว่ามีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถอ้างอิงและเชื่อถือได้

โดยกลุ่มเป้าหมายทั้ง 112 บริษัทแบ่งเป็น อุตสาหกรรม 18.8% พาณิชยกรรมและบริการ 18.8% ยานยนต์ 16.1% เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 10.7% เทคโนโลยี 9.8%ส่วนที่เหลืออยู่ในธุรกิจ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์, อุปโภคบริโภค, อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง, ทรัพยากร และการเงิน

          “บริษัทที่มีจำนวนพนักงาน ตั้งแต่ 1-500 คน เข้าร่วมมากที่สุดเป็นอันดับ 1  และบริษัทที่มีรายได้ ตั้งแต่ 1,000-10,000 ล้านบาท เข้าร่วมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 การสำรวจปีนี้มีบริษัทหน้าใหม่เข้าร่วม 40% อีก 60% เป็นบริษัทที่เข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนข้อมูลพนักงานรายคนทั้งหมด 27,709 ข้อมูล แยกตามสายอาชีพ สูงสุด 3 อันดับแรกคือ ฝ่ายการผลิต, โลจิสติกส์ และฝ่ายขายและการตลาดวรกิต กล่าว

 

แนวโน้มค่าตอบแทน ปี 2565/2566

การปรับค่าตอบแทน ปี 2565/2566 มีแนวโน้มจะขยับสูงขึ้น เพราะไทยมีทิศทางการขึ้นค่าตอบแทนคล้ายกับอเมริกา โดยปี 2564/2565 อเมริกา ปรับขึ้นค่าตอบแทน 4% และคาดว่าจะสูงกว่า 4% ในปีถัดไป

สำหรับการปรับเงินเดือนประจำปีตามผลงาน ในปี 2566 คาดว่าขึ้นไปแตะที่ 4.27%จากปี 2565 ขึ้นไป 4.02% ปี 2564 ขึ้นไป 3.93%  ปี 2563 ขึ้นไป 4.58% และปี 2562 ขึ้นไป 5.06%

ขณะที่โบนัสคงที่ ในปี 2566 คาดการณ์ 1.44 เดือน จากปี 2565 จ่าย 1.36 เดือน ปี 2564 จ่าย 1.32 เดือน ปี 2563 จ่าย 1.41 เดือน และปี 2562 จ่าย 1.38 เดือน

โบนัสผันแปร ในปี 2566 คาดการณ์ 2.31 เดือน จากปี 2565 จ่าย 2.52 เดือน ปี 2564 จ่าย 2.45 เดือน ปี 2563 จ่าย 2.7 เดือน ปี 2562 จ่าย 2.73 เดือน

3 อันดับธุรกิจที่มีแนวโน้มปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงานสูงสุด ในปี 2566 ได้แก่ ทรัพยากร 5% พาณิชยกรรมและบริการ 4.58% เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 4.54% ซึ่งมีอันดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า

          ขณะเดียวกัน 3 อันดับธุรกิจที่มีแนวโน้มจ่ายโบนัสคงที่สูงสุด ในปี 2566 ได้แก่ อุปโภคบริโภค 2.40 เดือน ยานยนต์ 1.85 เดือน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 1.45 เดือน

3 อันดับธุรกิจที่มีแนวโน้มจ่ายโบนัสผันแปรสูงสุด ในปี 2566 ได้แก่ ยานยนต์ 3.57 เดือน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 2.83 เดือน เทคโนโลยี 2.47 เดือน โดยธุรกิจยานยนต์ยังคงเป็นแชมป์โบนัสกระเป๋าหนักอย่างต่อเนื่อง

          ในส่วนของการปรับเงินเดือนประจำปีตามผลงานทุกอุตสาหกรรม ประจำปี 2566 ค่าเฉลี่ย 4.27% สูงสุด 7.0% ต่ำสุด 1.60%

การจ่ายโบนัสคงที่ทุกอุตสาหกรรม ประจำปี 2566 ค่าเฉลี่ย 1.36 เดือน สูงสุด 1.44 เดือน

การจ่ายโบนัสผันแปรทุกอุตสาหกรรม ประจำปี 2566 ค่าเฉลี่ย 2.31 เดือน สูงสุด 2.52 เดือน

 

การบริหารค่าตอบแทนรวม

วรกิตกล่าวว่า การบริหารค่าตอบแทนรวม ยังคงยึดแบบแผนหลักอย่างต่อเนื่อง ตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือ ให้น้ำหนักกับเงินเดือน 68% แล้วตามด้วยโบนัสคงที่ รายได้อื่น เบี้ยกันดาร และสวัสดิการตามลำดับ

3 อันดับแรกของการจ่ายเงินได้อื่น ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ โบนัส 96.4% เบี้ยขยัน 56.3% และ ค่าตำแหน่ง ที่รั้งมาอันดับ 3

สำหรับปี 2565 ที่กำลังจะสิ้นสุดลง ตำแหน่งงานที่มีการจ่ายสูงสุด @ P50 ได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน 305,457 บาท สายงานบริหาร, หัวหน้าแผนกขายต่างประเทศ 130,750 บาท สายงานซูเปอร์ไวเซอร์, เลขานุการผู้บริหารระดับสูง 113,050 บาท สายงานวิชาชีพl และ หัวหน้ากะผลิต 47,646 บาท สายงานผลิต

         

          5 อาชีพทำเงิน ที่มีค่าวิชาชีพสูงสุด นอกเหนือจากค่าตอบแทน  ได้แก่ ล่าม 30,000 บาท วิศวกร 20,000 บาท เภสัชกร 14,000 บาท สถาปนิก 12,000 บาท และทนายความ 10,000 บาท

อีกข้อมูลที่น่าสนใจ จากการสอบถามกลุ่มเป้าหมายถึงกลุ่มพนักงานที่หาคนทดแทนได้ยาก 9 อันดับแรก ได้แก่ ไอที, การขายและการตลาด, งานผลิต, บัญชีและการเงิน, พัฒนาธุรกิจ, กฎหมาย, กลยุทธ์องค์กร, HRและโลจิสติกส์

 

4 แนวโน้มค่าตอบแทนรวมปี 2566

PMAT วิเคราะห์ 4 แนวโน้มที่สำคัญของการบริหารค่าตอบแทนปี 2566 ในประเทศไทย ได้แก่

  1. การจ่ายค่าตอบแทนจากคงที่ เริ่มหันมาเน้นการจ่ายค่าตอบแทนจากแรงจูงใจ(performance-driven incentives)
  2. การจ่ายค่าทักษะในงาน upskills(การเพิ่มทักษะเดิม) and reskills (การสร้างทักษะใหม่)(skills-based pay : upskills and reskills)
  3. หันมาเน้นสวัสดิการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี(well-being benefits)
  4. เปิดทางให้พนักงานได้เลือกสวัสดิการ ผลประโยชน์เกื้อกูล ที่เหมาะสมกับพนักงานแต่ละคน(flexible/ personalized benefits)

  “ในแง่ของการจ่ายเงินเดือนที่เป็น basic salary ผู้ประกอบการระดับกลางและล่าง เริ่มกลับมาจ้างงานมากขึ้น สังเกตได้จากมีการปรับเงินเดือนสูงขึ้นจากปี 2564 ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวม บ้านเราจีดีพี 3% กว่าๆ ใกล้ 4% อัตราเงินเฟ้อลดลง จาก 6.3% เหลือ 2.4% อัตราว่างงานก็ลดลง จาก 1.93% เหลือ 1.37% ปี 2566 นี้จึงถือว่าเป็นอีกปีที่มีสัญญาณเชิงบวกจากหลายปัจจัย ที่ส่งผลดีต่อการจ้างงานและจ่ายค่าตอบแทนโดยรวม” วรกิต กล่าวสรุป