BDI จับมือ กทม. MOU เชื่อมข้อมูลสุขภาพชาวกรุงกับหน่วยบริการทุกระดับ คาด พ.ค.นี้ เปิดระบบนำร่องครอบคลุม 10 เขต

สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI โดย รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อํานวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ พร้อมด้วย รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือโครงการจัดทำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ (Health Information Exchange: Health Link) โดยมี นพ.ธนกฤต จินตวร First Executive Vice President, BDI ร่วมเป็นสักขีพยาน

รศ.ดร.ธีรณี กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่สำคัญของชาวกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เข้าสู่ระบบสาธารณสุขแบบไร้รอยต่อทุกรูปแบบ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างสถานพยาบาลโดยต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ป่วยเท่านั้น ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ทำให้แพทย์สามารถดูประวัติการรักษาของสถานพยาบาลข้ามสังกัด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการตรวจวินิจฉัยซ้ำซ้อน และสามารถได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ทันท่วงที ตลอดจน กทม. สามารถใช้ประโยชน์จากการเชื่อมข้อมูลสุขภาพ เพื่อวางแผนบริหารจัดการเมืองเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

“เรามั่นใจว่า ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลมีกลไกการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มแข็ง มีการยืนยันตัวตนของประชาชน และแพทย์ การเข้ารหัสข้อมูลและระหว่างจัดส่งข้อมูล รวมถึงมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยอย่างดี ปัจจุบัน Health Link เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในพื้นที่ กทม. แล้วกว่า 100 แห่ง พร้อมขยายการเชื่อมโยงไปยังคลินิกชุมชนอบอุ่น ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  และร้านยาคุณภาพที่ผ่านการรับรองจากสภาเภสัชกรรมและขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในกลางปีนี้” ผู้อำนวยการ BDI กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพที่สำคัญระหว่างหน่วยบริการทุกระดับในพื้นที่ กทม. เพื่อตอบสนองนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ โดยการดำเนินงานในเฟสแรกของ กทม. จะเริ่มนำร่องที่ Bangkok Health Zoning 3 ผ่านระบบ Health Link ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางของภาครัฐ มีการรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ISO 27001 คาดว่า จะเปิดใช้ระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในพื้นที่นำร่องดังกล่าวได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ พร้อมขยายผลต่อให้ครบทั้ง 7 โซนสุขภาพต่อไป

สำหรับ Bangkok Health Zoning 3 พื้นที่นำร่องดังกล่าว ประกอบด้วย โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศูนย์บริการสาธารณสุข 17 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  และร้านยาคุณภาพที่ผ่านการรับรองจากสภาเภสัชกรรมและขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 10 เขต ได้แก่ ปทุมวัน สาทร บางรัก วัฒนา คลองเตย พระโขนง ยานนาวา ทุ่งครุ บางคอแหลม และราษฎร์บูรณะ