เจาะลึกเทรนด์ AI โลก บนเวที GFEAI2025 เมื่อไทยขึ้นแท่นผู้นำจริยธรรม AI แห่งภูมิภาค

กรุงเทพมหานครถูกจับจ้องจากสายตาทั่วโลก เมื่อ The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025 (GFEAI2025) เปิดฉากเวทีระดมสมองครั้งประวัติศาสตร์ จุดประกายคำถามสำคัญที่สะท้อนความกังวลของคนทั้งโลก: “เมื่อ AI ก้าวไวกว่ากฎ แล้วจริยธรรมที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน? และใครจะเป็นผู้กำกับทิศทาง?”…นี่ไม่ใช่แค่เวทีแลกเปลี่ยนความรู้ระดับนโยบาย แต่คือการรวมตัวครั้งสำคัญของผู้นำระดับรัฐมนตรี ผู้แทนประเทศ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจาก 88 ประเทศ ที่มาร่วมกันหาทางออกเพื่อสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมสุดล้ำกับความรับผิดชอบต่อมนุษยชาติ และบทความนี้จะพาไปเจาะลึก เทรนด์ AI บนเวทีโลก พร้อมบทสรุปแห่งความสำเร็จที่ผู้นำทั่วโลกและประเทศไทยต่างร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นที่เวที GFEAI 2025

 ‘นายกฯ- ยูเนสโก’ เดินหน้า AIGPC ชู ‘จริยธรรม AI ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง’

 ในห้องประชุมใหญ่ที่แน่นขนัด ท่ามกลางเสียงสะท้อนจากผู้แทนจากทั่วโลกที่ว่า การพัฒนา AI ต้องไม่ใช่เพียงเพราะทำได้ แต่ต้องตอบได้ว่า AI จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มจริงหรือไม่ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ ได้แสดงความมุ่งมั่นอย่างชัดเจน เมื่อนายกรัฐมนตรี นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร ประกาศชัด ไทยจะเป็นผู้นำและศูนย์กลางด้านจริยธรรม AI ด้วยยุทธศาสตร์ชาติด้าน AI ภายใต้ คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee: NAIC) ที่รัฐบาลได้ตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา AI และเร่งรัดการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ที่ตั้งเป้าสร้างมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาทพร้อมลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกระดับศักยภาพทั้งคนและระบบนิเวศ ให้ AI เป็นพลังพัฒนา สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ทุกคน บน

เวทีเดียวกัน นางออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก ย้ำ ข้อเสนอแนะของยูเนสโกว่าด้วยจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์ที่ 193 ประเทศได้เห็นชอบร่วมกันจะกลายเป็นนโยบายระดับชาติที่เป็นกุญแจสำคัญให้ทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนามีแนวทางกำกับ AI อย่างเป็นรูปธรรม เคารพสิทธิมนุษยชน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้หารือกับผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก ในการเริ่มเดินหน้าจัดตั้ง AI Governance Practice Center หรือ AIGPC เพื่อเป็นศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ระดับภูมิภาค (Category 2 Centre) ภายใต้ยูเนสโก ที่จะร่วมผลักดันข้อเสนอแนะจริยธรรม AI สู่การปฏิบัติ ยกระดับประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกให้ใช้ AI อย่างมีจริยธรรม รับมือภัยคุกคาม เช่น ข้อมูลบิดเบือน พร้อมเป็นศูนย์องค์ความรู้ อบรม และมาตรฐาน AI ทั้งยังเร่งเครื่องพัฒนา AI อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านเกษตร การแพทย์ การศึกษา และปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ โดยมียูเนสโกสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยี พร้อมเร่งพัฒนาทักษะคนไทย ดึงดูดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เดินหน้าตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) และบรรจุการเรียนการสอนด้าน AI ในสถานศึกษา เพื่อให้ AI เป็นพลังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

โลกมอง AI อย่างไร? เทรนด์ใหญ่ที่น่าจับตา จาก GFEAI2025

เริ่มที่ นโยบาย จริยธรรม และการกำกับดูแล ที่ครั้งนี้เราได้เห็นภาพการรวมพลังของนานาประเทศและองค์กร ที่แม้จะมีความแตกต่างกัน ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากร แต่กลับมีเป้าหมายเดียวกันคือ การสร้าง AI ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลายประเทศตื่นตัวและยอมรับว่าคำถามสำคัญในวันนี้ไม่ใช่แค่ ‘มี AI หรือไม่’ แต่คือ ‘พร้อมแค่ไหนที่จะใช้ AI อย่างมีจริยธรรม’

ประเทศสมาชิก UNESCO หลายๆ ประเทศรวมถึงไทย เริ่มใช้กรอบประเมินความพร้อม UNESCO RAM เป็นเข็มทิศวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อนและต่อยอดสู่การวางนโยบาย AI แล้ว ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว อย่าง เนเธอร์แลนด์ ยอมรับว่า แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้า แต่การมีส่วนร่วมของประชาชนและการเชื่อมโยงหน่วยงานยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย โอกาสนี้ UNESCO จึงเปิดตัว Global Network of AI Supervising Authorities ร่วมกับ European Commission และ Dutch Authority for Digital Infrastructure เพื่อสร้างเครือข่ายพัฒนานโยบายและการกำกับดูแล AI  ที่สอดคล้องมาตรฐานสากล ให้ AI เป็นเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือ โปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกคน พร้อมกันนี้ยังเสนอแนวทางร่วมกันว่า นโยบาย AI ที่ดีควรมี 3 จุดสำคัญ คือ ต้องยืดหยุ่นปรับตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ออกแบบโดยรับฟังเสียงทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะเด็ก ผู้พิการ และกลุ่มชายขอบที่มักถูกมองข้าม และต้องมีกลไกติดตาม-ประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

ไม่ใช่เพียงนโยบาย แต่โลกกำลังขับเคลื่อน “วัฒนธรรม AI ที่รับผิดชอบ” ด้วยความเชื่อว่า AI ไม่สามารถพัฒนาแบบ “Move Fast and Break Things” อีกต่อไป แต่ต้องเปลี่ยนเป็น “Move Fast and Save Things” ด้วยการวางหลักจริยธรรมไว้ตั้งแต่เริ่มและจริยธรรมต้องฝังอยู่ในกระบวนการออกแบบ พัฒนา AI ตั้งแต่ต้น

บริษัทยักษ์ใหญ่ฝั่งผู้ผลิตในภาคเอกชน อย่าง Microsoft, SAP, Infosys, LG และ Universal Music Group เห็นตรงกันว่า “Human-in-the-loop” คือหัวใจของ AI ทุกระบบ เพราะการตัดสินใจที่สำคัญต้องอยู่ในมือมนุษย์ ทั้งยังเดินหน้าจัดการอคติในข้อมูล ฝึกพนักงานให้เข้าใจผลกระทบของ AI ต่อบทบาทงาน และปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมเสนอให้มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ สำหรับบริษัทที่พัฒนา AI อย่างมีจริยธรรม เพื่อให้การทำดีไม่ใช่แค่ความถูกต้องแต่ยังคุ้มในเชิงธุรกิจ

แม้หลายประเทศยังไม่มีกรอบกฎหมาย AI ที่ชัดเจน แต่หลายฝ่ายมองว่า จำเป็นยิ่งที่ต้องเสริมด้วยกฎหมายคุ้มครองข้อมูล ความมั่นคงไซเบอร์ และกฎระเบียบ AI ที่ครอบคลุมสิทธิ ความปลอดภัย ความยุติธรรมที่สอดคล้องหลักจริยธรรม ทั้งยังกล่าวถึง AI Sandbox เครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้าใจระหว่างผู้สร้างเทคโนโลยีกับผู้กำกับดูแล ที่ไม่ใช่แค่สนามทดสอบนวัตกรรม แต่คือพื้นที่ที่เปลี่ยนการควบคุมเป็นการเรียนรู้ร่วมกันภายใต้กติกาใหม่ที่ตอบโจทย์

ขยับมาที่ ด้านสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึง (Human Rights and Inclusion)  โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ‘เด็กกับ AI’ ผู้เชี่ยวชาญจาก UNICEF และหลายประเทศเห็นตรงกันว่า เด็กกำลังเป็นเหยื่อเงียบของ AI ที่เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่ยังไม่เกิด พ่อแม่ใช้ AI เช็กสุขภาพครรภ์ จนถึงลืมตาดูโลก เด็กเล็กดูคลิปจากอัลกอริทึม เด็กโตใช้ AI ทำการบ้าน แม้ AI อยู่ในชีวิตทุกวัน แต่แทบไม่มีใครถามว่า AI ออกแบบมาเพื่อเด็กจริงหรือไม่ ถึง AI เปิดโอกาสให้เข้าถึงความรู้ได้ง่าย แต่ความจริงที่น่ากังวลคือ AI อาจทำลายทักษะคิดวิเคราะห์ ลดความอยากรู้อยากเห็น และทำให้เด็กพึ่งพาเครื่องมือจนขาดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือ AI ยังกลายเป็นช่องทางใหม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อ Deepfake สื่อลามกอนาจารและการล่วงละเมิดทางออนไลน์ โดยไม่รู้ตัว การเร่งสร้างให้เกิดการรู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยี AI(AI Literacy) สำหรับเด็กและครอบครัว กำหนดนโยบายที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางตั้งแต่ต้นจึงเป็นทางออกที่ทั่วโลกเห็นตรงกัน

นอกจากนี้ นานาประเทศยังสะท้อนว่า AI ต้องไม่ใช่แค่ฉลาด แต่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนและสร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งสำหรับคนทั่วไป AI ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่สำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ AI คือสิ่งที่ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้กลายเป็นไปได้ และเสริมพลังให้คนที่เคยถูกจำกัดโอกาสด้วยระบบช่วยเหลือต่างๆ เช่น การอ่านหน้าจอด้วยเสียง การแปลแบบเรียลไทม์ หรือการนำทางสำหรับผู้พิการ เป็นต้น เวทีนี้เสนอว่า การออกแบบ AI ควรนำด้วยแนวคิด Inclusive by Design คิดถึงคนทุกกลุ่มตั้งแต่วันแรก ไม่ใช่แค่เพิ่มฟีเจอร์ให้เข้าถึงทีหลัง และต้องให้ผู้พิการเข้ามามีบทบาทร่วมในการพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับ ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ’ สนธิสัญญาระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ต้องให้คนพิการมีส่วนร่วมในฐานะผู้กำหนดทิศทาง ไม่ใช่แค่ผู้ใช้งาน เช่นเดียวกับคำแนะนำของ UNESCO ที่กำหนดว่า AI ต้อง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่นโยบาย          การพัฒนา ไปจนถึงการนำไปใช้ พร้อมเสนอให้เร่งแก้ไขปัญหานี้ ด้วย 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ ลงทุนใน AI เพื่อสาธารณะให้ทุกคนเข้าถึงได้ บังคับใช้กฎหมายสิทธิและการเข้าถึงที่ชัดเจน ตั้งองค์กรกำกับดูแลที่ให้ผู้พิการร่วมเป็นผู้กำหนดกติกา

แม้มี หลายประเทศนำ UNESCO RAM ไปใช้แล้ว แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ กลับพบว่า พวกเขากำลังขาดบุคลากรเชี่ยวชาญเฉพาะมาช่วยในการวิเคราะห์ จึงทำให้การประเมินหยุดแค่บนกระดาษ ขณะที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เดินหน้า โครงการ Women Elevate ที่ตั้งเป้าฝึก AI ให้ผู้หญิง 25,000 คนี เพื่อปิดช่องว่างทางเพศในวงการเทคโนโลยี ส่วนไทยสำหรับการดำเนินงานของ ETDA หน่วยงานภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่มีการดำเนินงานของศูนย์ AIGC (AI Governance Center) ก็เร่งเครื่องพัฒนาเครื่องมือประเมินความพร้อมและจัดหลักสูตรอบรม AI ให้หน่วยงานทั่วประเทศ สร้างขีดความสามารถที่ไปไกลกว่าแค่ใช้เทคโนโลยี แต่ให้เข้าใจจริยธรรม AI

ขณะที่ ความเป็นส่วนตัวและความโปร่งใส (Privacy and Transparency) ก็เป็นอีกเรื่องที่เวทีนี้ให้ความสำคัญ เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลลึกที่สุดอย่าง ข้อมูลสมอง (Neurodata) และข้อมูลดิจิทัลในชีวิตประจำวัน กำลังเป็นเป้าหมายใหม่ของภัยเทคโนโลยี โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลสมองผ่านนวัตกรรมที่ชื่อว่า ‘Neuro-AI’ ที่เกิดจากการผสานระหว่าง Neurotechnology + AI ที่ AI สามารถประมวลผลร่วมกับกระบวนการทางสมอง ตั้งแต่การทำความเข้าใจความคิดของมนุษย์เพื่อต่อยอดการวิจัย การวินิจฉัยสุขภาพจิตของผู้ป่วยจากการทำงานของสมอง ไปจนถึงการฟื้นฟูรักษาผู้ป่วยที่มีโรคทางสมอง เรื่องเหล่านี้แม้จะช่วยปฏิวัติวงการแพทย์ ช่วยรักษาผู้ป่วยอัมพาต แต่หากขาดมาตรการจริยธรรม ข้อมูลสมองที่สะท้อนความคิด ความสามารถ และสภาพจิตใจ อาจถูกใช้เพื่อควบคุมความคิดคน ดังนั้น การเก็บข้อมูลโดยไม่ระบุตัวตน จำกัดการนำข้อมูลสมองเข้าสู่ระบบดิจิทัล พัฒนากฎหมายแบบมีอายุจำกัด (Sunsetting clauses) เปิดทางให้ปรับปรุงกฎหมายได้ตามเทคโนโลยี และใช้ระบบ Dynamic regulation ที่ยืดหยุ่น พร้อมปรับตัว จึงเป็นข้อเสนอแนะที่เราได้เรียนรู้จากเวทีนี้

รวมถึงปัญหา AI and Online Fraud ที่หลายประเทศรวมถึงไทยต่างต้องเผชิญอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็น แก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือมิจฉาชีพที่ใช้ AI Deepfake สร้างเสียง ภาพปลอม หลอกประชาชนจำนวนมากผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซับซ้อนขึ้น โดยอาชญากรรมออนไลน์ที่ใช้ AI มักดำเนินการจากต่างประเทศ ที่กฎหมายและเขตอำนาจศาลแต่ละประเทศต่างกัน ทำให้การเอาผิดหรือบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องยาก แต่ในอีกด้าน AI ก็กลายเป็นอาวุธสำคัญที่ช่วยภาครัฐตรวจจับพฤติกรรมการหลอกลวงในโลกออนไลน์ วิเคราะห์รูปแบบของการโทรจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือสแกนข่าวปลอมได้เร็วกว่ามนุษย์หลายร้อยเท่า

อย่างกรณีของไทย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ไทยมีแนวทางรับมือมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตั้งทีมเฉพาะกิจ (task force) ตอบสนองภัยคุกคามออนไลน์อย่างรวดเร็วและยืดหยุ่น (agile) ใช้ระบบเทคโนโลยีแบ่งปันข้อมูลระหว่างธนาคารและหน่วยงานรัฐ เพื่อหยุดเส้นทางการเงินของคนร้าย ใช้ TLP (Traffic Light Protocol) กำกับสิทธิการเผยแพร่ข้อมูล เพื่อป้องกันข้อมูลสำคัญรั่วไหล พร้อมนำ AI ช่วยกรองข่าวปลอมได้วันละกว่า 3,000 สถานการณ์ กลายเป็นกรณีศึกษาที่หลายประเทศในอาเซียนอยากนำไปใช้และนี่คือบทพิสูจน์ต่อนานาประเทศว่า ไทยกำลังเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามอาชญากรรมและมิจฉาชีพออนไลน์อย่างเข้มข้น

อีกประเด็นที่ทั่วโลกจับตามากขึ้น คือ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาก AI หลายคนอาจคิดว่า AI จะช่วยวิเคราะห์แนวโน้มโลกร้อนหรือจัดการป่าไม้ แต่บนเวทีนี้ชี้ว่า การฝึกโมเดล AI ขนาดใหญ่ต้องใช้พลังงานมหาศาล กลายเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนเงียบๆ ที่ขัดแย้งกับเป้าหมายสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าในปี 2569 การใช้ไฟฟ้าจาก AI Data Center จะสูงถึง 1,000 เทระวัตต์ชั่วโมง เทียบเท่าความต้องการไฟฟ้าของญี่ปุ่น-เยอรมนีรวมกัน พร้อมย้ำ AI ต้องพัฒนาไปในทิศทางที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ หรือ Green AI ที่คำนึงถึงวงจรชีวิตของเทคโนโลยีตั้งแต่การใช้พลังงาน น้ำ แร่ธาตุ ไปจนถึงการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกัน ยังต้องเร่งสร้างกรอบกฎหมายที่บังคับใช้ได้จริง เช่น การบัญญัติหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมลงในกฎระเบียบ AI การกำกับโครงสร้างพื้นฐานผ่านกฎหมายพลังงาน และขยายมาตรฐาน ESG ให้ครอบคลุมเทคโนโลยี (ESGT) เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับผิดชอบร่วมกัน

หลายประเทศยอมรับ ถึงจะเริ่มลงทุนใน AI แต่ยังขาดความพร้อมในด้านกฎหมาย ระบบสนับสนุน หรือบุคลากรที่เข้าใจ AI จริงๆ การใช้เครื่องมืออย่าง UNESCO RAM จึงถูกยกให้เป็นหนึ่งใน “เข็มทิศ” ของ GFEAI2025 ที่ต้องการผลักดันให้แต่ละประเทศประเมินตนเองว่า จุดแข็ง-จุดอ่อนของตนอยู่ตรงไหน เพื่อออกแบบนโยบาย AI ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

GFEAI2025 จุดเริ่มบทใหม่ของ AI โลก-ไทย

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเวที GFEAI2025 คือสัญญาณเตือนที่ชัดเจนที่สุดว่า โลกต้องเร่งกำหนดทิศทาง ก่อนที่ AI จะเป็นฝ่ายกำหนดอนาคต และไม่มีประเทศใดสามารถแก้โจทย์นี้ได้เพียงลำพัง…เวทีนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือและความเข้าใจร่วมกันระดับโลก ว่าการพัฒนา AI เราต้องเดินหน้าไปด้วยกัน บนพื้นฐานจริยธรรมที่ทุกประเทศเห็นพ้อง

สำหรับไทย นี่ไม่ใช่แค่โอกาสแสดงความพร้อม ด้านกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่เป็นก้าวสำคัญที่ตอกย้ำบทบาทในฐานะศูนย์กลางด้านจริยธรรม AI แห่งภูมิภาค ผ่านศูนย์ AI Governance Practice Center (AIGPC) ที่แสดงให้เห็นว่า ไทยพร้อมก้าวขึ้นเป็นผู้ร่วมสร้างมาตรฐานจริยธรรม AI ที่โปร่งใส เป็นธรรม และเคารพสิทธิมนุษยชน ที่จะเดินหน้าไปกับทุกประเทศ เพื่อให้ AI ถูกพัฒนาเพื่อมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน-ติดตามผลสรุปและความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมได้ที่เพจ ETDA Thailand