เปิดวิชั่น ‘สุพรรณี’ ผู้ขับเคลื่อน ‘Red Hat’ โซลูชันโอเพ่นซอร์สระดับโลก ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรชั้นนำ
“Red Hat” (เร้ดแฮท) ผู้ให้บริการโซลูชันด้านโอเพ่นซอร์สชั้นนำของโลก ที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับโลกดิจิทัลในอนาคต ด้วยการให้บริการโซลูชันโอเพ่นซอร์สครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานไอที หรือซอฟต์แวร์ระบบเปิดที่มาพร้อมความยืดหยุ่น ปลอดภัยรองรับทุกความต้องการทางธุรกิจได้อย่างตรงจุด ให้บริการกับองค์กรชั้นนำในทุกอุตสาหกรรม
เพราะอะไร ? โซลูชันของ Red Hat จึงได้รับความไว้วางใจจากองค์กรใหญ่ระดับประเทศ “CIO Talk” จะพาไปหาคำตอบจากบทสัมภาษณ์พิเศษ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของเร้ดแฮท “สุพรรณี อำนาจมงคล” ที่เจาะลึกวิสัยทัศน์และทิศทางการบริหารแบรนด์ระดับโลกที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรชั้นนำในประเทศไทย
Red Hat คือ อะไร
ถ้าพูดถึง Red Hat สิ่งแรกที่คนทำงานสายไอทีจะนึกถึง คือ โอเพ่นซอร์ส แต่สำหรับบุคคลทั่วไปอาจมีคำถามในใจว่า “โอเพ่นซอร์ส” คืออะไร ? ย้อนกลับไปในอดีต เดิมทีบริษัทต่าง ๆ มักจะมีหน่วยงานที่คอยพัฒนาซอฟต์แวร์ออกมาใช้ ซึ่งจะไม่เปิดเผยซอร์สโค้ดต่อสาธารณชน ทุกอย่างค่อนข้างจะเป็นความลับของบริษัท ลูกค้าต้องผูกติดว่าซื้อยี่ห้อไหนก็ใช้แบบนั้นไป จนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มีคอนเซปต์ออกมาว่า แล้วทำไมนักพัฒนาซอฟแวร์จึงไม่พัฒนาร่วมกัน จึงเกิด “โอเพ่นซอร์ส คอมมิวนิตี้” ขึ้น เป็นคอมมิวนิตี้ที่เมื่อมีเทคโนโลยีอะไร หากทุกคนสนใจ ก็ให้นำมาพัฒนาร่วมกัน ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ที่เปิดเผย ซอร์สโค้ด ต่อสาธารณชน ทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์และร่วมกันทดสอบระบบ เรียกได้ว่าเป็น “โมเดล” การพัฒนาที่อนุญาตให้ทุกคนปรับแต่งและแบ่งปันเทคโนโลยีได้ และคืนกลับความรู้ต่าง ๆ เข้ามายังคอมมิวนิตี้ จึงเกิดเป็นเทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สขึ้น และ Red Hat ก็คือหนึ่งในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับโอเพ่นซอร์สตรงนี้ โดยมีการออกแบบที่เข้าถึงได้ทุกคน และคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ
“เพราะจริง ๆ เรารู้ว่าลูกค้าต้องการใช้งานโอเพ่นซอร์ส แต่ยังกังวลเรื่องความปลอดภัย Red Hat นำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สมาพัฒนาให้เกิดความปลอดภัย มีคุณภาพ และน่าเชื่อถือ เหมาะกับการใช้งานในองค์กร รวมถึงมีทีมให้บริการเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ปัจจุบันลูกค้าที่ให้ความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพและใช้บริการของเรา มีอยู่ในทุกอุตสาหกรรม เช่น การเงินธนาคาร โทรคมนาคม ค้าปลีก ภาครัฐ เป็นต้น ยกตัวอย่าง ธนาคารออมสิน และธนาคารทหารไทยธนชาต ฯลฯ ซึ่งทุกวันนี้เรามองว่าเราเป็น เอนเตอร์ไพรส์ โอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์ คอมพานี และปัจจุบันเราช่วยลูกค้าในเรื่องของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันผ่านการใช้โอเพ่นไฮบริดคลาวด์”
เทรนด์จากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เปลี่ยนไปอย่างไร
เมื่อก่อนทุกคนมีซอฟต์แวร์เป็นของตัวเอง แต่เมื่อมีโอเพ่นซอร์สเกิดขึ้น จึงเกิดการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเดียวกันไปด้วยกัน จากช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมา เทคโนโลยีที่เกิดการเติบโตขึ้นมาอย่างชัดเจน คือ คลาวด์ ที่ประเทศไทยเติบโตขึ้นมาถึง 28.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงมาก เพราะของทั้งโลกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 23.1 เปอร์เซ็นต์
“เทรนด์อนาคตที่เกิดขึ้น คือ ทุกคนจะมุ่งไปที่คลาวด์ และพัฒนาไปสู่การใช้คลาวด์หลายระบบที่เรียกว่ามัลติคลาวด์ และ การใช้คลาวด์หลายประเภทร่วมกันหรือไฮบริดคลาวด์ เพราะช่วยตอบโจทย์ในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ได้เร็ว ยืดหยุ่น และคล่องตัว นอกจากนี้จุดหนึ่งที่ Red Hat มองคือจะทำอย่างไรจึงจะสามารถนำเทคโนโลยีให้เข้าไปใกล้ผู้ใช้งานปลายทางมากที่สุด หรือที่เรียกกันว่าเอดจ์ (edge) เราจึงเน้นการพัฒนาโซลูชันที่จะช่วยให้ลูกค้าทำงานที่ edge ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ เราสร้างแพลตฟอร์มให้เป็นแพลตฟอร์มแบบซิงเกิล สกิล เซต เพื่อใช้ในการพัฒนา และดูแลให้ลูกค้าสามารถใช้คลาวด์ใดที่ไหนก็ได้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ลูกค้ามองหา”
มุ่งพัฒนาซอฟต์แวร์รองรับเทรนด์การใช้ไฮบริดคลาวด์
เมื่อไม่นานมานี้ Red Hat ได้เปิดตัว Red Hat OpenShift Platform Plus รุ่นล่าสุด ที่มีฟีเจอร์และความสามารถใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ให้ตอบสนองการใช้งานด้านสตอเรจ การบริหารจัดการ และอื่น ๆ
อีกมาก เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งเดียวที่รองรับความต้องการด้านไอทีขององค์กรได้ครบถ้วนในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ที่ติดตั้งในองค์กร การทำงานที่เอดจ์ หรือการทำงานกับคลาวด์หลายระบบ และมีฟังก์ชันด้านความปลอดภัยเชิงลึกที่รองรับลูกค้าทุกขนาด เพราะเราเล็งเห็นว่าความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญมาก
อีกหนึ่งทางเลือกโอเพ่นซอร์สบน Cloud Marketplaces
ปัจจุบันองค์กรหันมาใช้ cloud marketplaces เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นวิธีการที่ช่วยให้จัดหา และใช้บริการคลาวด์ หรือ ซอฟต์แวร์โซลูชันต่าง ๆ ได้ง่าย เพื่อช่วยเร่งการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลจาก IDC คาดการณ์ว่า ภายในปี 2567, 55% ขององค์กรจะค้นหาซอฟต์แวร์ที่ต้องการจาก cloud marketplaces ประกอบกับลูกค้าพัฒนากลยุทธ์ในการใช้ไฮบริดคลาวด์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ความง่ายในการเข้าถึงการใช้งานกลายเป็นเรื่องสำคัญ
Red Hat เห็นว่าพฤติกรรมการใช้งานที่เปลี่ยนไปนี้ เป็นโอกาสที่บริษัทฯ จะให้บริการองค์กรต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ผ่านทางเลือกที่มากขึ้น มีความยืดหยุ่น และความง่ายในการใช้โซลูชันโอเพ่นซอร์สบนไฮบริดคลาวด์ จึงได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ เช่น AWS, Microsoft และ Google เพื่อพัฒนาและนำโซลูชันของ Red Hat ไปให้บริการบน cloud marketplaces ของผู้ให้บริการคลาวด์เหล่านั้น นอกจากนี้ Red Hat ยังเร่งพัฒนานวัตกรรมไฮบริดคลาวด์ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับลูกค้า ทำให้องค์กรสามารถซื้อและปรับใช้โซลูชันที่ต้องการได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นอีกด้วย
ล่าสุด Ansible Automation Platform ของ Red Hat พร้อมให้ใช้ได้บน AWS Marketplace และ Ansible Automation Platform พร้อมใช้บน Azure Marketplace แล้ว ซึ่งนับเป็นความคืบหน้าล่าสุดของความร่วมมือที่มีมาอย่างยาวนานของ Red Hat กับ AWS และ Microsoft ในการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถเคลื่อนย้าย พัฒนา และปรับปรุงแอปพลิเคชันเพื่อใช้งานบนคลาวด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์การเติบโตของ Red Hat ในประเทศไทย
เร้ดแฮท ประเทศเทย เน้นกลยุทธ์สามส่วนคือ 1) ลูกค้า ซึ่งเราแบ่งเป็นสองกลุ่มหลัก กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ใหม่กับเทคโนโลยีของ Red Hat และเป็นฐานลูกค้าใหม่ที่เราเข้าไปให้ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีของ Red Hat เข้าไปช่วยปรับเปลี่ยนการทำงาน และ กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีของ Red Hat อยู่แล้ว ซึ่งเราจะต่อยอดความสำเร็จอย่างต่อเนื่องด้วยการพัฒนาในระยะยาว 2) เราให้ความสำคัญกับพันธมิตรที่พร้อมจะบุกตลาดใหม่ด้วยกัน ด้วยโปรแกรมสนับสนุนการขายต่าง ๆ สร้างความเป็น trusted partner ซึ่งกันและกัน และ 3) เสริมศักยภาพให้กับบุคลากรภายในองค์กร
“Red Hat ทำธุรกิจโดยยึดลูกค้าเป็นสำคัญ (customer centric) ดังนั้นสิ่งที่เรา มุ่งเน้น ณ ขณะนี้ คือ การวางแผนกับลูกค้าว่าในปีหน้าเราจะร่วมกันพัฒนาศักยภาพด้านไอทีขององค์กรลูกค้าไปทางด้านใด ซึ่งเราจะเน้นในเรื่องการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า และทำความเข้าใจว่าเขาต้องการสินค้าหรือบริการแบบไหน เพื่อจะได้สร้างผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของลูกค้า และเติบโตไปด้วยกันให้ได้มากที่สุด” ผู้จัดการประจำประเทศไทย Red Hat กล่าวในที่สุด