สภาพเศรษฐกิจโดยรวม*และแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนและการให้โบนัส การสำรวจค่าตอบแทนรวมประจำปี 2565 ของสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย

*ภาพและบทวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจ นำมาจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2565). การประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 3/2565. กรุงเทพ: ธนาคารแห่งประเทศไทย.

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566

โดยมาจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจน โดยประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะไม่ต่ำกว่า 9 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีถัดไป อันเป็นผลมาจากที่ประเทศไทยยกเลิก Thailand pass และประเทศส่วนใหญ่เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแบบไม่กักตัวในไตรมาส 3 ของปี 2565 และคาดการณ์ว่าจีนจะเปิดประเทศในไตรมาส 3 ปี 2566 นอกจากนี้ ผู้ว่างงานและเสมือนว่างลดลงต่อเนื่อง รายได้แรงงานฟื้นตัวและกระจายในหลายสาขามากขึ้น ซึ่งช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน

ทางด้านปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มากกว่าที่คาด และการลงทุนที่อาจพื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด
ส่วนปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ย(ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2565)ของธนาคารกลางต่าง ๆ รวมถึง Global supply disruption ที่คลี่คลายช้ากว่าที่คาด

ในด้านอัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยลดลงในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นทั้งในปี 2565 และ 2566 ส่วนเงินบาทอ่อนค่าเร็วและต่อเนื่อง เป็นผลจากเงินดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาที่แข็งค่าเป็นหลัก ทั้งนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่เข้มแข็งสามารถรองรับความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งการประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราใหม่ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา ส่งผลให้บุคลากรบางส่วนขององค์การได้รับการปรับอัตราค่าจ้าง และช่วยให้บรรเทาปัญหาจากผลกระทบของเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น

แนวโน้มการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2564 โดยอัตราการขึ้นเงินเดือนโดยเฉลี่ยทุกอุตสาหกรรมปี 2564 เท่ากับ 3.93% ปี 2565 เท่ากับ 4.07% และคาดการณ์แนวโน้มปี 2566 เท่ากับ 4.61% อันเป็นผลมาจากที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2566 สูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ทรัพยากร และอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างตามลำดับ โดยคาดการณ์การขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.8%, 5.67% และ 5.00% ตามลำดับ

ในขณะที่การให้โบนัสประจำปีมีแนวโน้มต่ำกว่าเดิมเล็กน้อย อันเนื่องมากจากการคาดการณ์ผลประกอบการล่วงหน้าซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง โบนัสรวมเฉลี่ยปี 2565 รวมทุกอุตสาหกรรมเท่ากับ 2.88 เท่าของเงินเดือน แนวโน้มการจ่ายโบนัสรวมเฉลี่ยปี 2566 อยู่ที่ 2.62 เท่าของเงินเดือน โดยอุตสาหกรรม 3 ลำดับแรกที่คาดการณ์การจ่ายสูงสุด ได้แก่ ยานยนต์ 4.4เท่า ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 2.85 เท่า และเทคโนโลยี 2.8 เท่า ตามลำดับ

 

Aอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคจะต้องประสบพบเจอ คำนวณจากทุกกลุ่มรายการสินค้า

Bอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) จะแตกต่างจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปตรงที่ไม่นำสินค้าในกลุ่มอาหารสดและพลังงานมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากมีความผันผวนสูง และส่วนมากเป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศ