Meta จับมือ ททท. ผุดแคมเปญ “Rediscover Thailand” สนับสนุนท่องเที่ยวไทย

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จับมือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA, ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC), Holowispและครีเอเตอร์ผู้สร้างสรรค์จาก Meta Spark AR ผุดโครงการโปรโมทท่องเที่ยวไทยประสบการณ์ใหม่ผ่านAR

Meta ประเทศไทย ประกาศเปิดตัวแคมเปญ “Rediscover Thailand – ท่องเที่ยวไทย ประสบการณ์ใหม่ผ่าน AR” นำเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวผ่านเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ที่แสดงความโดดเด่นของจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทยผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของ Meta ภายใต้ความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) Holowisp ผู้พัฒนาเทคโนโลยี AR ชั้นนำและครีเอเตอร์ผู้สร้างสรรค์ผลงานชุมชน Meta Spark AR ในประเทศไทย เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19

จากการที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี พ.ศ. 2565 (APEC) ที่กำลังจะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ Meta และพันธมิตรจึงได้ร่วมมือกันแสดงความโดดเด่นและความงดงามของวัฒนธรรม จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว รวมถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ผ่านประสบการณ์ AR เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนธีมหลักของการจัดประชุมดังกล่าว ได้แก่ “Open. Connect. Balance.” มุ่งฟื้นฟูความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่และเร่งการเติบโตอย่างยั่งยืนหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยแคมเปญ “Rediscover Thailand” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการยกระดับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศผ่านวิธีการที่สร้างสรรค์ อีกทั้งเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ Meta ในการช่วยเหลือธุรกิจและชุมชนท้องถิ่นด้วยการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือดิจิทัลที่ช่วยให้พวกเขาเข้มแข็งและฟื้นฟูธุรกิจได้โดยเร็ว นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ Meta ในการช่วยให้ผู้คนสามารถกลับมาเชื่อมต่อกันอีกครั้ง พร้อมเปิดโลกสู่โอกาสในการค้าขายและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจาก Meta พบว่า ในช่วง 90 วันที่ผ่านมา มีผู้คนจำนวนกว่า 10.3 ล้านคนในประเทศไทยได้แชร์โพสต์และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวกว่า 38 ล้านครั้ง ผ่าน Facebook และ Instagram

ตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ จะมีการจัดแสดงผลงานเอฟเฟกต์ AR ที่ล้ำสมัยทั้งหมด 9 ผลงานที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยนักพัฒนาและครีเอเตอร์ AR ชาวไทยทั้งหมด 5 คน ได้แก่ คุณพรรษวุฒิ เคหสุขเจริญ คุณวนิศรา ชมภูรัตน์ คุณโอภาศ แสงอื้อ คุณคีตะพล บุญประจักษ์ และคุณซูฟีย์ ยามา โดยผลงานจากศิลปิน AR ชาวไทยผู้มากความสามารถทั้ง 5 คนจากชุมชน Meta Spark AR ได้สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเด่นเชิงวัฒนธรรมที่สนับสนุนความหลากหลายจากทั่วภูมิภาคในประเทศไทย โดยบุคคลทั่วไปสามารถสัมผัสประสบการณ์เชิงวัฒนธรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านร่มบ่อสร้างของภาคเหนือ ไปจนถึงรำมโนราห์ของภาคใต้ ซึ่งเป็นประสบการณ์ออนไลน์และอินเทอร์แอคทีฟที่เปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถดื่มด่ำไปกับสิ่งมหัศจรรย์เชิงธรรมชาติและวัฒนธรรมของประเทศ พร้อมสัมผัสเทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคตในขณะเดียวกัน

แคมเปญนี้ยังได้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่โดดเด่นด้านการใช้งานเทคโนโลยีของคนไทย รวมถึงศักยภาพด้านการเติบโตที่ยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย โดยผลการศึกษาล่าสุดได้คาดการณ์ว่า ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2565 จะมีประชากรไทยกว่าร้อยละ 72 ที่ใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล และร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยกล่าวว่าพวกเขาเคยใช้งานเทคโนโลยีที่มีความเกี่ยวข้องกับเมตาเวิร์สอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีที่ผ่านมา เช่น AR, VR และ NFT ยิ่งไปกว่านั้น Meta ยังพบว่า ณ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ประเทศไทยยังเป็น 1 ใน 10 ประเทศทั่วโลกที่มีจำนวนครีเอเตอร์ Meta Spark AR ที่ยังคงสร้างสรรค์ผลงานอยู่ในปัจจุบันเป็นจำนวนมากที่สุด โดยมีร้อยละ 58 ของครีเอเตอร์ชาวไทยดังกล่าวที่ระบุตัวตนว่าเป็นผู้หญิงอีกด้วย

ภายในงานเปิดตัววันนี้ มร. ไซมอน มิลเนอร์ รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Meta กล่าวว่า “จากความมุ่งมั่นของ Meta ในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีโซเชียลในยุคต่อไป เราจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความสำเร็จของการเปิดตัวโครงการ ‘Rediscover Thailand’ ในวันนี้ ซึ่งเป็นการสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินงานตามเส้นทางสู่เมตาเวิร์สของเรา โดยผลงานที่เราและพันธมิตรได้จัดแสดงผ่านแคมเปญนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการใช้งานเทคโนโลยี AR/XR ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ทั้งในด้านการทำงาน ความบันเทิง และเพื่อพัฒนาการดำเนินงานด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ อย่างที่เราได้เห็นการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผมคิดว่าเมตาเวิร์สจะช่วยปลดล็อคโอกาสอีกมากมายให้กับอุตสาหกรรมที่หลากหลายในปัจจุบัน”

คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว นวัตกรรมเทคโนโลยีก้าวเข้ามามีส่วนสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะ การเดินทางแบบ Virtual ซึ่งเปิดประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างไร้ข้อจำกัด และตอบโจทย์เทรนด์โลกได้ ความร่วมมือระหว่างททท.กับ Meta ชี้ให้เห็นว่า ททท. ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าและยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผ่านการสร้างระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวใหม่ (New Tourism Ecosystem) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวไทยสู่ High Value & Sustainable Tourism เพื่อกระตุ้นความต้องการเดินทางท่องเที่ยวและมุ่งสร้างประสบการณ์การเดินทางที่มีความหมายและทรงคุณค่า (Meaningful Travel)”

คุณภควัจน์ ก่อศรีพิทักษ์กุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Holowisp กล่าวว่า “การสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ขึ้นมาผ่านเทคโนโลยี AR เช่นนี้จะช่วยให้ผู้ใช้ได้สัมผัสประสบการณ์สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ แม้ในขณะที่พวกเขาไม่ได้เดินทางไปยังสถานที่นั้นจริง ๆ ซึ่งประสบการณ์นี้ไม่ได้ประกอบด้วยพื้นที่สถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนที่หลากหลาย วัฒนธรรม และประเพณีที่มีอยู่จริงอีกด้วย”

ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ความสามารถในการนำความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในบริบทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางภาคสังคม เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนวิสัยทัศน์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย CEA เล็งเห็นประโยชน์ของโครงการ Rediscover Thailand ที่สร้างสรรค์โดย Meta จึงพร้อมมีส่วนร่วมในการผลักดันโครงการ เพื่อขยายเวทีและพื้นที่ให้แก่เหล่านักสร้างสรรค์ ในการนำเสนอผลงานต่าง ๆ และช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวไทยให้มีสีสันและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นจากเทคโนโลยี AR ที่มอบทั้งความสนุกและสร้างการมีส่วนร่วมได้ง่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์”

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของแคมเปญ “Rediscover Thailand” ยังประกอบด้วยการจัดเวิร์คช็อปเพื่อเสริมสร้างทักษะ “Meta Spark Creator Connect” โดย Meta ที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนครีเอเตอร์ AR จำนวน 75 คนจากทั่วโลกและทั่วภูมิภาค ซึ่งรวมถึงประเทศไทย เพื่อให้ความรู้และส่งเสริมการเติบโตของชุมชน Meta Spark Global Creator และสร้างอีโคซิสเต็มที่นำไปสู่เทคโนโลยีแห่งอนาคตในประเทศไทย

ในขณะที่ประเทศไทยยังคงเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง แคมเปญเช่นนี้มีส่วนในการมุ่งผลักดันประเทศสู่เมตาเวิร์ส เปิดโอกาสสู่การเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้น ปลดล็อคศักยภาพครั้งสำคัญให้กับผู้คนและชุมชนต่าง ๆ รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมอีกมากมายในอนาคต

สำหรับผู้ที่สนใจสัมผัสประสบการณ์เอฟเฟกต์ AR ของโครงการ ‘Rediscover Thailand’ ผ่านช่องทางออนไลน์บนโทรศัพท์ สามารถเยี่ยมชม Instagram ของ @TourismThailand และเลือกปุ่ม ‘เอฟเฟกต์’ และสำหรับการสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง สามารถเยี่ยมชมนิทรรศการ Augmented Reality ภายใต้โครงการ Rediscover Thailand ได้ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ เวลา 10.30 – 19.00 น. ตั้งแต่วันที่ 2-30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กรุงเทพฯ ที่บริเวณ Front Lobby ชั้น 1

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอฟเฟกต์ AR ของโครงการ Rediscover Thailand ครีเอเตอร์ AR และเรื่องราวเบื้องหลังต่าง ๆ กรุณาเยี่ยมชม fb.me/rediscover-thailand


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสบการณ์
AR และครีเอเตอร์

จากแคมเปญ Rediscover Thailand

 

ภายใต้แคมเปญ Rediscover Thailand ครั้งนี้ Holowisp ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีของMeta และครีเอเตอร์ผู้สร้างเอฟเฟกต์ประสบการณ์เสมือนจริง (Augmented Reality – AR) ชาวไทย 5 คน ได้ร่วมออกแบบและพัฒนาเอฟเฟกต์ AR ทั้งหมด 9 ชิ้นที่สะท้อนความโดดเด่นและเสน่ห์ของการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม จากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ในประเทศไทย เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเอฟเฟกต์ AR และครีเอเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลัง ดังนี้

 

เอฟเฟกต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาคเหนือ

ประสบการณ์เสมือนจริงโดยเทคโนโลยี AR ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้รับชมความงดงามของบ้านบ่อสร้างผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมทำร่มและพัดชื่อดัง

เอฟเฟกต์ในรูปแบบเกมที่แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของเมนูอาหารเหนือยอดนิยมในประเทศไทย เช่น แกงอ่อม ลาบเหนือ ข้าวซอย ไส้อั่ว และแกงแค เป็นต้น

สร้างสรรค์โดย

  • คุณพรรษวุฒิ เคหสุขเจริญ (คุณบอนนี่) | Instagram: @kapansavuth จากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมด้านการพัฒนาเกม ทำให้คุณพรรษวุฒิมีความชื่นชอบในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะภาพประกอบแบบอินเทอร์แอคทีฟด้วยการใช้สูตรคำนวณเชิงคณิตศาสตร์ โดยเทคนิคในการสร้างสรรค์ผลงานของเขายังได้เปิดโอกาสให้ผู้คนได้สัมผัสประสบการณ์ภาพในรูปแบบที่ไม่เหมือนใครอีกด้วย
  • คุณวนิศรา ชมภูรัตน์ (คุณคิตตี้) | Instagram: @kiiztie จากการที่เคยเรียนด้านการพัฒนาเกมและประสบการณ์อินเทอร์แอคทีฟแบบสามมิติมาก่อน คุณคิตตี้จึงได้นำทักษะที่มีมาใช้พัฒนาตัวละครและสภาพแวดล้อมแบบสามมิติเพื่อสร้างประสบการณ์เสมือนจริงในเมตาเวิร์ส และนอกจากการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแบบสามมิติเพื่อการใช้งานในเกมและสื่อดิจิทัลที่ทันสมัยอื่น ๆ ในปัจจุบันคุณคิตตี้ยังได้หันมาสนใจและแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองผ่านเทคโนโลยี AR อีกด้วย

เอฟเฟกต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ประสบการณ์ AR นี้ได้จัดแสดงวัฒนธรรมและประเพณีบุญบั้งไฟของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการบูชาและขอให้ฝนตกตามฤดูกาล ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลเพาะปลูก

ประสบการณ์ AR ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้สร้างสรรค์หน้ากากผีตาโขนในแบบของตนเอง โดยเทศกาลผีตาโขนเป็นงานบุญประเพณีใหญ่ที่จัดขึ้นในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยเป็นการละเล่นที่ผู้คนท้องถิ่นจะส่งเสียงดัง เพื่อบวงสรวงบูชาพระอุปคุตต์แห่งแม่น้ำหมันให้ช่วยคุ้มครองบ้านเมือง

สร้างสรรค์โดย

  • คุณโอภาศ แสงอื้อ (คุณโอ) | Instagram: @since2535 จากประสบการณ์ด้านดิจิทัลอาร์ทและการสร้างหนัง ทำให้คุณโอภาศสามารถสร้างสรรค์เอฟเฟกต์ AR ที่มาพร้อมภาพประกอบที่สะดุดตา และสะท้อนถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้อย่างโดดเด่น โดยคุณโอภาสมีความพิเศษในการผสมผสานแนวคิดเชิงประเพณี ความน่ากลัวของผีตาโขน และไอเดียที่สนุกสนานมารวมเข้าด้วยกันได้ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ

เอฟเฟกต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจโดยภาคกลาง

ประสบการณ์ AR ในรูปแบบเกมที่โดดเด่นด้วยวัดไชยวัฒนาราม วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยวัดไชยวัฒนารามเป็นหนึ่งในวัดที่มีความน่าประทับใจมากที่สุดของประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา เนื่องจากเคยเป็นวัดหลวงของพระมหากษัตริย์และเหล่าราชวงศ์มาอย่างยาวนาน

ประสบการณ์ AR นี้จัดแสดงขนมหวานท้องถิ่นชื่อดังของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นั่นก็คือ “โรตีสายไหม” โดยขนมหวานชนิดดังกล่าวถูกดัดแปลงมาจากโรตีของอินเดีย และนำมาทานคู่กับสายไหม

สร้างสรรค์โดย

  • คุณคีตะพล บุญประจักษ์ (คุณคี) | Instagram: @keeator คุณคีเป็นสมาชิกของ Meta Spark Partner Network จากประเทศไทย และยังเป็นนักพัฒนาเชิงเทคนิคมากความสามารถ โดยคุณคีพัฒนาเครื่องมือเชิงเทคนิคต่าง ๆ เป็นจำนวนมากให้กับชุมชน Meta Spark ในวงกว้าง และสำหรับเกม AR ที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน นอกจากนี้ ฟิลเตอร์ Instagram ที่เป็นที่นิยมของคุณคียังมียอดการรับชมกว่า 1 พันล้านครั้งอีกด้วย

 

เอฟเฟกต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาคใต้

ประสบการณ์ AR นี้ได้แสดงความโดดเด่นของประเพณีรำมโนราห์ในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการแสดงที่มีเอกลักษณ์และได้รับรองการขึ้นทะเบียนโดย UNESCO ที่ผสมผสานระหว่างการฝึกฝนอย่างแข็งขัน ดนตรีที่มีลักษณะคล้ายเพลงแทรนซ์ ท่าทางที่เป็นเอกลักษณ์ และการแต่งกายที่สวยงามที่ประกอบด้วยชุดลูกปัดสีสันสดใสและเครื่องประดับศีรษะทรงแหลม

ประสบการณ์ AR ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้ค้นพบกับความสวยงามของทะเลภาคใต้แห่งจังหวัดตรัง พร้อมทำความรู้จักกับพะยูนแสนน่ารักและเป็นมิตรในท้องทะเล

สร้างสรรค์โดย

  • คุณซูฟีย์ ยามา (คุณซู) | Instagram: @sufeeyama คุณซูเป็นนักออกแบบประสบการณ์ AR/VR และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเชิงครีเอทีฟในด้านการเล่าเรื่องผ่านสื่อเสมือนจริง โดยได้สร้างสรรค์ผลงานไว้อย่างหลากหลาย ทั้งประสบการณ์ ARและ VR ภาพยนตร์ VR แอนนิเมชั่น วิดีโอแบบ 360 องศา และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ คุณซูยังมีความชื่นชอบด้านการศึกษาและจัดเวิร์คช็อปเพื่อสอนวิธีการเล่าเรื่องผ่านเทคโนโลยี VR/AR ให้กับองค์กรและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ