‘WEDO’ สุดยอดนวัตกรรม Future Talent ในงาน Thailand HR Tech 2022

 

 “SCG WEDO” โชว์สุดยอดนวัตกรรม future talent ในงานเทคโนโลยี HR แห่งปี “Thailand HR Tech 2022” เบื้องหลังแนวคิดยุคเป็ด การก้าวข้ามจากทักษะรู้ลึก มาเป็นรู้กว้าง ปลดล็อกความสามารถคนทำงานให้หลากหลาย รับมือกับกระแส disruptionไม่รู้จบ

“ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา” นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT : Personnel Management Association of Thailand) โชว์เคส SCG WEDO” หนึ่งในสุดยอดนวัตกรรมระดับแม่เหล็ก ในงานเอ็กซ์โป Thailand HR Tech 2022” วันที่ 18-19 ตุลาคม 2565 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป

“SCG WEDO” เป็นแนวคิดการสร้าง future talent ที่เปลี่ยนมุมมองจากทักษะเชิงลึก (specialist) มาเป็นการขยายทักษะเชิงกว้าง (generalist) เน้นมองภาพรวม และเห็นทุกความเชื่อมโยงต่อเนื่องเป็นภาพเดียวกัน

“PMAT ภูมิใจที่เป็นเวทีปล่อยของให้กับบรรดาองค์กรไฟแรง SCG WEDO เป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จของการสร้างคนสายพันธุ์ใหม่ ตอบโจทย์โลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป เราอยากสนับสนุนองค์กรแถวหน้า ทุกขนาดธุรกิจ หรือแม้แต่สตาร์ทอัพเอง ได้มาแบ่งปันองค์ความรู้ ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ถึงกลเม็ดเคล็ดลับการสร้างคนเก่งในองค์กรแบบไทยๆ เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกันในระดับองค์กร และระดับประเทศชาติ” นายก PMAT กล่าว

“อภิรัตน์ หวานชะเอม” Chief Digital Officer กลุ่มธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (SCG CBM : SCG Cement-Building Materials) กล่าวว่า ยุคสมัยนี้องค์กรต้องการคน ที่มีแนวคิดและความรู้แบบตัว T” คือ มีความรู้หลักเป็นแกนกลาง และขยายไปอีกหลายๆ ด้าน มากกว่าคนที่คิดเป็นเส้นตรงแบบตัว I“ แล้วดิ่งลึกจนไปไหนไม่ได้

         “คนทำงานที่จะดูดีได้ จะต้องเป็น T-shape คือมีความเป็น generalist (รู้รอบ) ไม่ใช่ I-shape แบบ specialist (รู้ลึก) ไม่ได้แล้ว เป็นคนทำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นคนคิดด้วย เป็นคนบริหารอย่างเดียวไม่ได้ ต้องนำและโค้ชเป็นด้วย ที่สำคัญคือ จะมีแต่ critical thinking ไม่ได้แล้ว ต้องเก่งในเรื่องของ creative thinking ในสายงานตัวเอง”

และการที่มีคุณสมบัติครบเครื่องแบบนี้ได้ ถึงจะเรียกว่าเป็น real talent” หรือ คนเก่งยุคเป็ด ที่ WEDO เอามาเป็นไอคอนสำหรับคนทำงานในโลกยุคใหม่ ที่ต้อง can do everything

อย่างไรก็ดี เขาบอกว่า ไม่อยากใช้คำว่า “องค์กรต้องการคนเก่ง” เพราะโดยเนื้อแท้ของ T-shape คือ องค์กรต้องการคนทำงานที่มีความสามารถมากกว่า 1 ด้าน และการสร้างพลพรรคเป็ดประจัญบาน ก็คือการไปให้ถึงเป้าหมายนวัตกรรมอย่างจริงจัง

“ยุคนี้องค์กรจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ เพราะเป็นยุคที่สินค้าและบริการของเราหมดอายุอย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ลูกค้าที่เปลี่ยนไป บริบททางด้านสังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ที่สำคัญคือเทคโนโลยี ทำให้สินค้าและบริการต้องปรับเปลี่ยน นำไปสู่ยุคที่เราเรียกว่า 0 to 1 (อ่านว่า ซีโร่ทูวัน) เป็นยุคที่องค์กรจะต้องหันกลับไปทำนวัตกรรม ไปคิดใหม่ทำใหม่ กลับไปเริ่มศูนย์ใหม่ ต้องเริ่มคิดว่าถ้าเราจะอยู่คู่กับลูกค้าต่อไปได้ อยู่คู่กับประเทศไทยต่อไปได้ เราต้องทำสินค้าและบริการอะไรออกมา”

         โดยเฉพาะองค์กรที่เติบโตมาแล้ว สำเร็จมาแล้ว อย่างเช่น SCG ยุคนี้ จากบริษัท operative organization ต้องกลับไปเป็น innovative organization ไปหาทางคิดใหม่ทำใหม่ ที่เรียกว่า 0 to 1

จึงเป็นความท้าทายของคน HR ที่พูดถึง future of work พูดถึง new economy พูดถึงโครงสร้างองค์กรแบบใหม่ พูดถึง talent แบบใหม่ พูดถึงวิธีการวัดผลคนเก่งในรูปแบบใหม่ๆ ว่าแล้วเราจะไปยังไงกันต่อ

อภิรัตน์เล่าว่า ช่วง 3-6 เดือนแรกที่เข้ามาอยู่ชายคา SCG CBM คนที่เขาทำงานใกล้ชิดด้วยที่สุดคือ HR strategy เพราะจำเป็นต้องสร้างทีมใหม่ขึ้นมาที่เหมาะสม พา SCG CBM กลับไปสู่ 0 to 1 และเหล่าผู้กล้าเหล่านั้น ต้องสามารถสร้างสินค้าและบริการใหม่ และธุรกิจใหม่ ให้องค์กรให้ได้

         “เรารู้เลยว่าทีมนี้ต้องไม่เริ่มจากเทคโนโลยี แต่เริ่มจากคน ใน 3 เรื่องคือ 1. จะต้องเข้าใจคน เข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง 2. ต้องมีศักยภาพในการทำความเข้าใจนั้น มาทำให้ธุรกิจใหม่เติบโตและยั่งยืนได้ และ 3. เป็นเรื่องของการนำศักยภาพเทคโนโลยีมาใช้ ในการเข้าถึงลูกค้าให้ดีขึ้น สร้างโอกาสใหม่ในการทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ทำธุรกิจใหม่ที่เราสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้มากขึ้น อันนี้เป็นแนวคิดแรกเริ่มเลย”

หน่วยงาน SCG WEDO มีกลิ่นอายไม่เหมือนกับ SCG บริษัทแม่ “ทำไมเราต้องทำตัวให้ประหลาดกว่า SCG?” เขาตอบว่า “เพราะต้องการสร้างภาพลักษณ์ และสื่อสารออกไปยังสาธารณะ เรามี area ใหม่ในการทำนวัตกรรม ที่ต้องการคนมีความสามารถ ดีไซน์เทคโนโลยี มี passion มี humble และ fearless ไม่กลัวอะไรเลย เราต้องการคนรุ่นใหม่มาร่วมกับองค์กรของเรา ปีหน้า 2566 เป็นปีที่พิสูจน์ตัวเองกับองค์กร เราเริ่มทำวิธีใหม่ สร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร จุดเริ่มต้นเราจะมีแรงต้าน มีความตื่นกลัว แต่เราจะพิสูจน์ตัวเองว่า ทีมใหม่นี้ที่หน้าตาแปลก สามารถจะสร้างนวัตกรรมออกมาในองค์กรได้จริง”

เขายืนยันว่า สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่มาโชว์ในงาน Thailand HR Tech 2022 ไม่ใช่นวัตกรรมของ SCG WEDO แต่เป็นนวัตกรผู้อยู่เบื้องหลังของนวัตกรรม ตัวอย่างเช่น ก๊อกน้ำพูดได้ ที่เป็นหนึ่งในโมเดลที่เป็นรูปธรรมว่า SCG WEDO สามารถ transform องค์กร และสร้างคนยุคใหม่ได้จริง แต่ต้องไม่เริ่มจากเทคโนโลยี ต้องเริ่มจากนวัตกร คือเริ่มที่ตัวคน

“ชุติมนต์ สุวิทย์วงศ์” (พลับ) สาวสวยหน้าใส อัธยาศัยดี มาทำกับ WEDO ได้ 2 ปี ในสายงาน HR ก่อนหน้าที่จะมาเป็นมนุษย์เป็ด เธอเคยผ่านงาน recruitment แต่ตอนนี้เธอขยายบทบาทรับผิดชอบในงานมากขึ้น ทั้งในเรื่องของ resource development, talent development, engagement และ retention

          “ทุกคนในองค์กรต้องมีความเป็นเป็ด งานที่รับผิดชอบจะดูแล well being ของคนในWEDO การดูแลคนเปลี่ยนโฉมไปจากเดิม เพราะคนก็เปลี่ยน คนที่จะสร้างนวัตกรรมต้องมี mindset มี skill มีความแตกต่างจากคนที่อยู่องค์กรปกติทั่วไป เราต้องเข้าใจผู้อื่น มีความมุ่งมั่น มีแรงผลักดันในตัวเอง และกล้าลงมือทำ เป็นชุด mindset เฉพาะของ WEDO”

เธอเล่าว่า โดยภาพรวมของงาน HR WEDO เป็น learning and development จึงถือเป็นงานที่สนุก ได้เจอคนเยอะ ได้เรียนรู้เยอะ เพื่อนร่วมงานทุกคน มีความเป็นเป็ดในตัวเองอยู่แล้ว พอมาเจอกันก็เลยมีแต่เรื่องสนุก

         โดยส่วนตัวของพลับ มีความเป็น generalist เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เธอต้องการเรียนรู้หลายๆ อย่าง ทำหลายๆ อย่าง ก็เลยถูกจริตกับ WEDO

“SCG WEDO ให้โอกาสเราได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง ที่อยากทำ ได้ขยายศักยภาพในแง่ที่เราไม่คิดว่าจะได้ทำ แต่ก็ได้ทำ เราไม่ได้ทำงานทางด้าน L&D โดยตรง แต่บริษัทก็รับเข้ามาทำงานทางด้าน L&D เลยรู้สึกว่าดีจังได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เราอยากเป็นเป็ดที่เรียนรู้ไปเรื่อยๆ อยากเป็นเป็ดแบบนี้ เป็นเป็ดที่ไม่ stop learning มี passion ในการเรียนรู้ต่อไปไม่มีวันหยุด”

“เอกรัตน์ อัศวินนวนาวา” (คิมฮ้อ) หนุ่มหล่อหน้าตี๋ ราศีจับ ในวัย 29 เข้ามาร่วมงานกับ WEDO ได้ 2 ปีเช่นกัน ก่อนหน้านี้เขาเคยผ่านงาน data scientist ทางด้าน NLP (Natural Language Processing) กระบวนการเอาเทคโนโลยีมาทำความเข้าใจภาษามนุษย์ ทั้ง AI และ ไม่ใช่ AI

เหตุผลที่คิมฮ้อสนใจมาทำงานกับ SCG WEDO เขาตอบแบบนางงามว่า สนใจในวิสัยทัศน์องค์กรที่ต้องการช่วยเหลือคนไทยทางด้านนวัตกรรม และมีนวัตกรรมทันสมัย พร้อมทำน้ำเสียงจริงจัง

         “ผมจบโทด้าน AI และมาต่อเอกด้าน NLP ที่จุฬาฯ มาทำงานที่ SCG WEDO ทางด้าน technology evangelist มีหน้าที่หาเทคโนโลยี frontier สมัยใหม่ มาทำเป็นต้นแบบให้ได้ แล้วส่งมอบให้กับคนไทย จากการดูแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าสนใจ มีอะไรบ้าง และเทคโนโลยีตัวไหนที่จะมาช่วยเหลือคนไทยได้บ้าง อย่างผลงานที่ผมทำ ก๊อกน้ำพูดได้ เป็นผลงานของแล็บ NLP ซึ่งใน WEDO มีหลายแล็บด้วยกัน เช่น แล็บ tech แล็บ HCI”

แล็บ NLP ทำวิจัยและพัฒนาก๊อกน้ำพูดได้กันมานาน แต่ว่าตัว use case หรือการประยุกต์ใช้ชิ้นแรก ใช้เวลาทำภายใน 3 อาทิตย์ โดยตัวเทคโนโลยีข้างในก๊อกน้ำเรียกว่า ONE (Offine NLP Eneblement) เป็นเทคโนโลยีเพิ่มความสามารถในการสั่งสารด้วยเสียง กับทุกๆ อุปกรณ์ได้หมด จะเป็นโมดูลตัวหนึ่งสามารถทำงานได้ไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ส่วนใหญ่เวลาสั่งการด้วยเสียง ต้องใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อไปยิงขึ้นที่คลาวด์ เซอร์วิส เพราะต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีการคำนวณความซับซ้อนสูงๆ ในการประมวลผล

แต่ SCG WEDO มองว่า มีอีกหลายเคสที่ไม่ต้องการอินเทอร์เน็ต เราต้องการให้มันเรียบง่าย แค่เสียบปลั๊กแล้วใช้ได้ เลยย่อขนาดเทคโนโลยีที่มันท้าทายมากๆ ให้เล็กลงและฝังอยู่ในอุปกรณ์ขนาดเล็กได้ สิ่งที่ WEDO ทำ ไม่ใช่แค่อุปกรณ์ที่สื่อสารเรื่องเสียงได้ แต่สามารถปรับเรื่องเสียงรบกวน ในสถานที่ที่มีเสียงดัง แต่อุปกรณ์ก็ยังสามารถทำงานได้ปกติ

เทคโนโลยี ONE ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ส่วนแรกเรียกว่า ASR (Auto Speed Recognition) คือการเปลี่ยนเสียงพูดภาษาไทยเป็นข้อความ ส่วนที่ 2 NLU (Natural Language Understanding) ทำความเข้าใจข้อความว่ากำลังสื่อถึงอะไร อยากให้ก๊อกน้ำทำอะไร พูดง่ายๆ ว่า ASR เหมือนหู NLU เหมือนสมอง ส่วนที่ 3 TTS (Tech To Speed) แปลงจากเสียงข้อความเป็นเสียงสังเคราะห์ ไม่ใช่เสียงที่มีการอัดไว้ล่วงหน้า แต่เป็นเสียงที่ AI generate real time ณ ตอนนั้นเลย

“เสียงพูดก๊อกน้ำที่ออกมาจริงๆ ทำได้หลายเสียง แต่ WEDO อยากทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันก่อน จึงเน้นโทนเสียงที่คล้ายหุ่นยนต์ ปัจจุบันการทำอุปกรณ์ออฟไลน์แล้วใส่ลงบอร์ด ก็ถือว่าท้าทายมากอยู่แล้ว แต่อันนี้พิเศษกว่าคือเป็นภาษาไทย ที่มีคนพัฒนากันน้อย”

ประโยชน์ของก๊อกน้ำพูดได้ เป็นอีกทางเลือกของการใช้งาน จากที่ใช้เซนเซอร์สั่งน้ำอย่างเดียว ก็มาเป็นการสั่งงานด้วยเสียง เหมาะกับผู้พิการทางสายตา และสุขอนามัยการเปิดก๊อกน้ำโดยไม่ต้องสัมผัส ประโยชน์ของเทคโนโลยีตัวนี้ เป็นโมดูลตัวหนึ่งที่จะไปเพิ่มความสามารถในการสั่งการด้วยเสียง ให้กับอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นก๊อกน้ำจะเป็นแค่ตัวอย่างแรกของนวัตกรรม WEDO ต่อไปสามารถประยุกต์ใช้กับ อ่างจากุชชี่ ไมโครเวฟ หรือฝักบัว ได้ เพราะเทคโนโลยี ONE อยู่ข้างใต้แอพลิเคชั่น เป็น engine ที่เอาไปประยุกต์ใช้กับอะไรก็ได้ ความน่าสนใจคือออฟไลน์ ไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต เสียบปลั๊กใช้ได้เลย

“WEDO สนับสนุนคนทำงานให้มีความเป็นเป็ดมาโดยตลอด เราไม่อยากได้คนที่ทำอะไรด้านเดียว เก่งด้านเดียว เราอยากได้มุมมองคนทำงานที่ทำงานได้หลายด้าน อย่างผมทำงานด้าน tech ด้าน R&D ผมก็ต้องรู้เรื่องของธุรกิจ ดีไซน์ รู้เรื่องของ UX (User Experience ประสบการณ์ของผู้ใช้) ต้องรู้หมด ซึ่งการเป็นเป็ดมันมีประโยชน์มาก เพราะเราจะเห็นภาพรวมของงานแต่ละอย่างที่เราทำ เราไม่ได้ทำแค่ด้านเดียว และมีวิสัยทัศน์แค่ด้านเดียว

ภูมิใจในความเป็นเป็ด ทำให้เราตีโจทย์และเข้าใจโจทย์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ส่งมอบงานได้ตรงตามโจทย์มากขึ้น เพราะเราเห็นภาพรวมชัดเจน ในความเป็นเป็ด เราก็ยังมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของเราอยู่ เราไม่ได้เป็นเป็ดแบบว่า ทำได้ทุกอย่าง แต่ทำได้อย่างละนิดอย่างละหน่อย แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญและเข้าใจในสิ่งที่เราทำ ผมอยากเป็นเป็ดที่มี passion มีความชอบ หลงใหลในสิ่งที่ทำ อินกับสิ่งที่ทำ ใส่วิญญาณ ใส่ความสนุกเข้าไปกับสิ่งที่ทำ และมีวิสัยทัศน์ เพราะฉะนั้นงานที่ออกมา จะไม่ใช่แค่งานที่ได้รับมอบหมายมา มันจะมีไอเดียอะไรใหม่ๆ ของพวกเราลงไปเสมอ พอเราอินเราอยากจะใส่อะไรเพิ่มเติมเข้าไป เพิ่มโน่นเพิ่มนี่ พัฒนาให้ดีขึ้นในหลายๆ มุม”

         โมเดลการสร้างคนยุคเป็ดของ SCG WEDO ในงานแสดงสุดยอดนวัตกรรม “Thailand HR Tech 2022” ภายใต้ธีม Let’s create human-first technology for humanity ที่จัดขึ้นโดย PMAT เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจ และแรงขับให้กับบรรดาชาว HR ได้ลุกขึ้นมา up level ตัวเอง ปลดล็อกศักยภาพของคนทำงาน และสร้างองค์กรให้เติบโตไปด้วยกัน