สกสว. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ร่างแผน ววน. ต่อยอดอุตสาหกรรมพลาสติกมูลค่า 8.4 แสนล้าน

สกสว. โดยโครงการ “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบ ววน. สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน” จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ร่างแผน ววน. และ การบูรณาการแผนและแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติก และ (ร่าง) โจทย์วิจัย สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มคุณค่าทางวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้นานมากขึ้น ที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมพลาสติกมีมูลค่ากว่า 8.4 แสนล้าน  

ดร. ลัษมณ อรรถาพิช ที่ปรึกษาผู้อํานวยการ สกสว.

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร. ลัษมณ อรรถาพิช ที่ปรึกษาผู้อํานวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อแนวทางการขับเคลื่อนแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน: กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ภายใต้โครงการ “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน” โดยมี ดร.จิตติ มังคละศิริ สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), คุณสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), คุณคงศักดิ์ ดอกบัว สถาบันพลาสติก, คุณวิชชุดา เดาด์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ, คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ บริษัท นิวอาไรวา จํากัด และ คุณธนาชัย ปิยะศรีทอง บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จํากัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) เข้าร่วมประชุมและนำเสนอข้อคิดเห็น

โอกาสนี้ ที่ปรึกษาผู้อํานวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. เป็นองค์กรที่มีพันธกิจในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผน รวมทั้งจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลต่างๆ ที่รอบด้าน ทันสมัย และเพียงพอ เพื่อนำมาใช้ชี้เป้าประเด็นสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ดังนั้น สกสว. จึงสนับสนุนโครงการ “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบ ววน. สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน” โดยมี ดร.จิตติ มังคละศิริ เป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัย ทำหน้าที่ประมวลความรู้ รวมถึงวิเคราะห์สถานการณ์ด้าน ววน. และประสานงานเครือข่าย เพื่อให้ได้ Framework, ทิศทางเชิงกลยุทธ์ (Strategic Direction) และโจทย์ด้าน ววน. ในสาขาเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) รวมถึงการนำเสนอแนวทางการสนับสนุนทุนและการนําผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่นเดียวกับมิติอื่น ๆ

สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ สกสว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนจะช่วยให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะประเด็นสำคัญ ต่อ(ร่าง) แผนด้านววน. พ.ศ.๒๕๖๖-๒๕๗๐ และ (ร่าง) โจทย์วิจัยเพื่อพัฒนาระบบ ววน. สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ให้ สกสว. มีข้อมูลที่สามารถนำไปต่อยอดบูรณาการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน ดร.จิตติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของไทยที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศไทยมีห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมพลาสติกที่ครบวงจรตั้งแต่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก และผู้ใช้เม็ดพลาสติกเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติก โดย ปี 2563 ประเทศไทยมีความเข้มแข็งและศักยภาพในการผลิตเม็ดพลาสติกสูงถึง 9.1 ล้านตัน และมีมูลค่าจากอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อใช้งานภายในประเทศกว่า 8.4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและต่อยอดอุตสาหกรรมพลาสติกอย่างมีทิศทาง สกสว. จึงกำหนดให้การพัฒนาระบบ ววน. สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก บรรจุไว้ในแผน ด้านววน. อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแผนด้าน ววน. พ.ศ.2566-2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 โปรแกรมที่ 4 ว่าด้วยการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ในด้านพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน วัสดุชีวภาพ และเคมีชีวภาพให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง

โดยมีการกำหนดค่าเป้าหมายที่สำคัญ อาทิ ประเทศไทยสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่เติบโตขึ้นจากการใช้นวัตกรรมการผลิตที่สะอาด ลดการใช้ทรัพยากรเพิ่มการหมุนเวียนวัสดุ และเพิ่มคุณค่าการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงมีจำนวนรูปแบบธุรกิจใหม่จากการเปลี่ยนของเสียให้มีมูลค่าสูง (Waste to Wealth) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมตามแนวทางระบบเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมของพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน พลังงานชีวภาพ วัสดุและเคมีชีวภาพ รวมถึงผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ

อย่างไรก็ดี ค่าเป้าหมายดังกล่าว นอกจากจะสอดคล้องกับความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในเรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติก การพัฒนาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบ ให้สามารถนำมาใช้ใหม่และนานมากกว่าเดิมแล้ว ในบางประเด็นยังสอดคล้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือทิ้งที่มีมูลค่าสูง การพัฒนาต่อยอดข้ามอุตสาหกรรม เช่น การแพทย์ การขนส่ง และ อุสาหกรรมก่อสร้าง ข้อกฎหมายต่าง ๆ ให้ สกสว.นำไปทบทวนและออกแบบทิศทางการพัฒนา ด้วย ววน. ที่แม่นยำต่อไป