“ประจิน จั่นตอง” แนะใช้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พลิกโฉมสมุนไพรให้ไกลระดับโลก

สกสว. ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จัด 5 เสวนา  ใน“มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 19” สานองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พลิกโฉมสมุนไพรให้ไกลระดับโลก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดเสวนา 5 เสวนา ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติและการประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก ครั้งที่ 19 ภายใต้แนวคิด “สร้างเศรษฐกิจไทย ด้วยกัญชาไทย นวดไทย อาหารไทย” อาทิ  ประเทศไทยจะก้าวสู่แนวหน้าอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างไร, มุมมองแพทย์แผนตะวันตก และ แพทย์แผนตะวันออก ภาคเอกชน และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย, และภาพรวมงานวิจัยสมุนไพรไทย และตัวอย่างงานวิจัย: กรณีศึกษา ฟ้าทะลายโจร ขิง และบัวบก โครงการ “การพัฒนากลไกการผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรไทย” ภายใต้สำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์

โอกาสนี้ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการพลิกโฉมพืชสมุนไพรด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม กล่าวในหัวข้อ พลิกโฉมสมุนไพรด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ตอนหนึ่งว่า สังคมไทยยังขาดความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพของสมุนไพร และ ความปลอดภัยของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้ามาช่วยสร้างความเชื่อมั่น และการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ สู่การยอมรับทางการแพทย์และผู้บริโภคในตลาด ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ซึ่งสามารถแยกตามลำดับ คือ การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการปลูก การสร้างผลิตภัณฑ์ขั้นต้นตามภูมิปัญญา การวิเคราะห์หาสาระสำคัญที่ใช้ในการผลิตยา ไปจนถึงการขึ้นทะเบียน และกานำไปใช้เพื่อการรักษา และ การนำผลผลิตจากพืชสมุนไพรไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม

นอกจากเรื่องของการปลูกและการผลิตแล้ว ปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ มาตรฐานอาหารและยา สิทธิบัตร/สิทธิประโยชน์ การคุ้มครองผู้บริโภค เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จะต้องเร่งพลักดันให้เกิดผลเชิงรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการกำกับดูแล และอภิบาลระบบ รวมไปถึงเรื่อของการตลาดและการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่สร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อ รวมถึงการสร้างคุณค่าในการลงทุนกับการวิจัยสมุนไพรไทย ซึ่งถือเป็นการสร้างวิกฤติให้เป็นโอกาส เพราะมีสมุนไพรไทยอีกหลายชนิดที่พร้อมยกระดับและต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความงาม เช่น สปา การนวดไทย และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การสอนนวดไทยทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

ในวันเดียวกันนี้ มีการเสวนา ประเทศไทยจะก้าวสู่แนวหน้าอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างไร โดยรองศาสตราจารย์ ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. และผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบ ววน., ดร. สิวินีย์ สวัสดิ์อารี สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และอนุกรรมการ และเลขานุการคณะอนุกรรมการแผนงานโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ บพข., ภก. คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), ภก. วราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ คุณเมธา สิมะวรา นายกสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร ประธานกลุ่มสมุนไพร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า สกสว. มีหน้าที่ในการจัดแผนด้าน ววน. ในระยะ 5 ปี ซึ่งครอบคลุมในทุกมิติรวมถึงเรื่องสมุนไพร รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยให้หน่วยรับงบประมาณกว่า 180 แห่ง และ 9 หน่วยบริหารจัดการทุน ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบันกระแสของการพัฒนาและยกระดับสมุนไพรนั้นกำลังมาแรง และไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่งบประมาณด้านการวิจัยในเรื่องนี้มีค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการ และมูลค่าของอุตสาหกรรมสมุนไพร ภายใต้ข้อจำกัดจึงจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินงานด้านสมุนไพร โดยการใช้ความต้องการของตลาดนั้นเป็นตัวตั้ง แล้วกลับมามองวัตถุดิบหรือสมุนไพรที่เรามี ว่าตรงตามความต้องการของตลาดหรือไม่ เพื่อนำมาพิจารณาในการพัฒนาต่อยอด เพราะการลงทุนทางด้านนี้ไม่ใช่เรื่องแค่ต้องทำ แต่ทำแล้วต้องสามารถยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ

ผลตอบแทนก็จะย้อนกลับมาที่เกษตรกรที่ปลูกสมุนไพรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเองก็สามารถพัฒนาและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นอุตสาหกรรมด้านสุขภาพที่สร้างอาชีพ สร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับประเทศ อย่างไรก็ดี หากความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นไปตามห่วงโซ่ ก็เชื่อว่าสังคมไทยก็จะเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับวิทยากรท่านอื่น ๆ ที่มองว่าการยกระดับหรือการพลิกโฉมสมุนไพรไทยนั้น นอกจากเรื่องการปลูกแล้ว ยังต้องมีการพัฒนาเครื่องมือและระบบอื่น ๆ ทั้งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับยาสมุนไพรให้สามารถเทียบเคียงกับยาแผนปัจจุบัน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และความสำเร็จในเรื่องดังกล่าว จะสำเร็จเพียงคนใดคนหนึ่งหรือ หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน