“กกอ.-กสว.” ร่วมระดมสมอง ออกแบบกลไก “การสร้างคน” ยกระดับการพัฒนาประเทศ

สกสว.จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการและระดมสมอง ออกแบบกลไกและแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง กกอ.-กสว. ให้เกิดการพัฒนาคนที่สามารถก้าวผ่านวิกฤติ และ สร้างโอกาส ในการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการและระดมสมองคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ววน. ภายในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อออกแบบกลไกและแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง กกอ.-กสว. โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบ ววน. ภายในสถาบันอุดมศึกษา ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบ ววน. ภายในสถาบันอุดมศึกษา ศ.ดร.วิชัย ริ้วตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบ ววน. ภายในสถาบันอุดมศึกษา ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากูล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  และ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. รวมถึง คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบ ววน. ภายในสถาบันอุดมศึกษา และ คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ตลอดจน ผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการประชุม

โอกาสนี้ ศ.ดร.วิชัย ริ้วตระกูล กล่าวถึงการสัมมนาว่า เป็นการระดมความคิดเห็น และการออกแบบกลไกการทำงานร่วมกันระหว่าง กสว. ที่มีบทบาทในการบริหารนโยบายและการจัดสรรงบประมาณด้าน ววน. ผ่านกองทุนส่งเสริม ววน. และ กกอ. ซึ่งมีบทบาทในการวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางการพัฒนาการอุดมศึกษาและจัดทำข้อเสนอนโยบายการอุดมศึกษา พร้อมทั้งวิเคราะห์หลักเกณฑ์และแนวทางการสนับสนุนทรัพยากรด้านอุดมศึกษา รวมทั้งกำกับดูแลกองทุนการอุดมศึกษาที่กำลังจะก่อตั้งขึ้นในอนาคต

การระดมความคิดเห็นในครั้งนี้จะเป็นกลไกที่สำคัญถึงการออกนโยบายและแนวปฏิบัติ ตลอดจนเป็นแนวทางในการผลักดันการพัฒนาระบบ ววน. ในสถาบันอุดมศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้โจทย์และความท้าทายที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาด้วยการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ Reinventing University หรือการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งเป็นกลไกการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและผลิตกำลังคนทักษะสูงเฉพาะทาง ตามความต้องการที่ตอบโจทย์สำคัญและเร่งด่วนของประเทศ

ด้าน ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ กล่าวถึง การสนับสนุนการพัฒนากำลังคนและการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยในมุมมองของ กสว. ว่า ปัจจุบันจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรทางวิจัยให้มีศักยภาพ เช่น การพัฒนาอาจารย์วิจัยใหม่ ให้หันมาทำวิจัยเพิ่มขึ้น โดยเป้าหมายใน 2-3 ปีข้างหน้า จะต้องมีสัดส่วนอัตรากำลังคนด้านการวิจัยที่เพิ่มขึ้น เท่ากับ 0.5% หรือไม่น้อยกว่า 0.3% ควบคู่กับการส่งเสริมให้อาจารย์มีทักษะวิจัยควบคู่กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่อง AI และ Robotic เป็นต้น และหากจำเป็นต้องใช้เงินในการพัฒนาคนด้านการวิจัย จะมีรูปแบบในการจัดสรรอย่างไร ซึ่งมองว่าระหว่างกองทุนอุดมศึกษา และกองทุน ววน. โดยไม่ควรแยกส่วนกัน

ส่วนของการ Reinventing มหาวิทยาลัย จะต้องเน้นในสาขาที่เป็นความโดดเด่นของหน่วยงาน ซึ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในประเด็นนั้น ๆ โดยมีสิ่งที่จะสนับสนุน ดังนี้ 1) ทำให้อาจารย์มีสัดส่วนการวิจัยสูงขึ้น 2) สร้างระบบให้นักวิจัยสามารถทำวิจัยพร้อมกับการสอนได้ 3) ส่งเสริมให้หน่วยงานเกิดการใช้เครื่องมือในการทำวิจัยร่วมกัน รวมถึงการสร้างมาตรการเกี่ยวกับงานวิจัย เช่น หากนักวิจัยไม่ลงข้อมูลระบบจะไม่สามารถขอทุนวิจัยได้

ขณะที่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ กล่าวถึงการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนและการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยในมุมมองของ กกอ. ว่า มีเป้าหมายและยุทธศาสตร์เป็นไปตามปรัชญาของอุดมศึกษา คือ “การอุดมศึกษาไทย มุ่งสร้างบัณฑิตและพัฒนากำลังคนในทุกช่วงวัย (Lifelong Learning) ให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และมีสมรรถนะ (Competency) ที่จำเป็น และรองรับสังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน (Disruption) ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ของประเทศในระดับสากล และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความรักและภูมิใจในสถาบัน วัฒนธรรม และประเพณีที่ดีงามของชาติ ทั้งนี้ ให้การสร้างบัณฑิตและพัฒนากำลังคนต้องทำร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนอย่างใกล้ชิด

ในภาพรวมแล้ว กกอ. จึงอยากเห็นภาพมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการปรับตัวให้เข้ากับปรัชญานี้ ซึ่ง กกอ. ต้องทำร่วมกับ กพร. เพื่อให้หลักเกณฑ์ต่าง ๆ มีการนำไปใช้มากขึ้น ดังเช่นการปรับในหัวข้อการทำวิจัยจะใช้ยุทธศาสตร์ของประเทศเป็นตัวตั้ง ด้านการเรียนการสอนต้องมีการปรับตัวเรื่องความรวดเร็ว ความโปร่งใส ความทันสมัย สร้างบุคลากรที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและความต้องการของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต