ทัศนคติโลกโซเชียล  1.9 ล้านข้อความ กับผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ใกล้วันเลือกตั้ง กระแสความคิดเห็นยิ่งเข้มข้นขึ้น วันนี้เรามาเจาะลึกข้อมูลเสียงสะท้อนและทัศนคติความชอบ  ความไม่ถูกใจ และความคิดเห็นเป็นกลางทั่วไป  ลำดับผู้สมัครที่ถูกกล่าวถึงเมื่อดูเฉพาะข้อความเชิงบวก  และข้อความเชิงลบ พบว่ามีความเปลี่ยนแปลง แต่ยืนอันดับหนึ่งยังคงเป็น “ชัชชาติ” ขณะที่อันดับสองขับเคี่ยวกันระหว่าง “อัศวิน” และ “วิโรจน์”

 

บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด Digital Super Agency รายแรกของไทย เปิดเผยข้อมูลการจัดทำ social listening ด้วยเทคโนโลยีเอไอลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัท คัดกรองข้อมูลที่รวบรวมได้จากบทสนทนาชาวเน็ตในช่วง 3 เดือนระหว่างก.พ.ถึงเม.ย.2565 รวมทั้งสิ้น 1,955,953 ข้อความ ในหัวข้อทัศนคติที่มีต่อผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 10 อันดับแรก จากแพลตฟอร์ม อาทิ facebook , twitter, website , youtube , Instragram ฯลฯ  โดยภาพรวมการสนทนาบนสื่อสังคมออนไลน์มีความแตกต่างกันในแต่ละมุมมองทั้งเชิงบวก เชิงลบ และเชิงทั่วไป  อาทิ  นโยบายทำได้จริง บุคลิกน่าเชื่อถือ  มั่นใจว่าทำงานได้อย่างที่พูด  หาเสียงสร้างภาพ  นโยบายขายฝัน  ไม่ชอบพรรคที่หนุนหลัง  ไม่รู้ปัญหาแต่อยากมาแก้ไข   กทม.จะไปต่อไม่ได้เพราะย่ำอยู่กับที่นานเกินไป  ฯลฯ

แม้ในภาพรวม ผู้สมัครที่ถูกกล่าวถึงเป็นลำดับสองและสามคือ “วิโรจน์” และ “อัศวิน” แต่หากดูเฉพาะบทสนทนา เชิงบวก  อันดับของผู้สมัครทั้งสองคนนี้จะสลับกัน  โดยอันดับผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ผู้คนในโลกโซเชียลพูดถึงมากที่สุดในเชิงบวก 3 อันดับแรก  คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  จำนวน 2.3 แสนข้อความ, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รั้งอันดับสอง 9.4 หมื่นข้อความ ตามมาด้วย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จำนวน 5.8 หมื่นข้อความ อันดับ 4.น.ต.ศิธา ทิวารี ถูกกล่าวถึง 12,802 ข้อความ 5.นายสกลธี ภัททิยกุล ถูกกล่าวถึง 10,690 ข้อความ 6.นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ถูกกล่าวถึง 4,837 ข้อความ  7.น.ส.รสนา โตสิตระกูล ถูกกล่าวถึง 3,450 ข้อความ  8.นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ถูกกล่าวถึง 36 ข้อความ 9.นายธเนตร วงษา ถูกกล่าวถึง 6 ข้อความ และ 10.นายศุภชัย ตันติคมน์ ถูกกล่าวถึง 5 ข้อความ

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูเฉพาะบทสนทนา เชิงลบ โซเชียลมีเดียพูดถึงผู้สมัคร 10 อับดับแรก รวม 298,593 ข้อความ ลำดับดังนี้ 1.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถูกกล่าวถึง 200,192 ข้อความ  เช่น หาเสียงสร้างภาพ  ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดพื้นที่การชุมนุมของประชาชน 2. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ถูกกล่าวถึง 59,238 ข้อความ  เช่น  ไม่เลือกเพราะไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกล  ไม่เห็นด้วยกับนโยบายทวงคืนสนามหลวง  ไม่พอใจการตอบคำถามในเชิงเหน็บแนม นโยบายไม่ชัดเจนมุ่งเน้นการเมืองเกินไป   3.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ถูกกล่าวถึง 29,253 ข้อความ เช่น หากได้กลับมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.ก็จะไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาขึ้น  ตำหนิป้ายหาเสียงกีดขวางทางเดิน เป็นต้น

 

ขณะที่เมื่อดูเฉพาะบทสนทนา ทั่วไป หรือเป็นกลางโซเชียลมีเดียพูดถึงผู้สมัคร 10 คนแรก รวม 1,237,856 ข้อความ ดังนี้ 1.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถูกกล่าวถึง 689,971 ข้อความ 2. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ถูกกล่าวถึง 209,043 ข้อความ 3.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ถูกกล่าวถึง 173,532 ข้อความ 4. น.ส.รสนา โตสิตระกูล  ถูกกล่าวถึง 55,753 ข้อความ 5. นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ถูกกล่าวถึง 42,006 ข้อความ 6. นายสกลธี ภัททิยกุล  ถูกกล่าวถึง 35,893 ข้อความ 7. น.ต.ศิธา ทิวารี ถูกกล่าวถึง 20,210 ข้อความ 8.นายศุภชัย ตันติคมน์ ถูกกล่าวถึง 5,019 ข้อความ 9. นายธเนตร วงษา  ถูกกล่าวถึง 1,686 ข้อความ และนายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ถูกกล่าวถึง 925 ข้อความ