สสส. พลิกโฉม ‘ 5 มัสยิดปลอดบุหรี่’ ผ่าน ‘ศาสนสถาน’ และ ‘หลักศาสนา’ หยุดปัญหาป่วยหนักจากสิงห์อมควัน

‘ศาสนสถาน’ พื้นที่แห่งความหวังและความศรัทธา ถูกนำมาใช้บ่มเพาะให้เกิดพฤติกรรมการรักสุขภาพทางภาคใต้ของไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ หนึ่งในนั้นคือการทำให้ ‘มัสยิด’ เป็นต้นแบบพื้นปลอดภัยไร้ปัจจัยเสี่ยงจากอบายมุขทุกชนิด ด้วยการวางมาตรฐานที่สามารถนำไปใช้ได้ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย

‘มัสยิด’ คือ ‘ศูนย์รวมใจ’ ของชุมชนชาวมุสลิมทางภาคใต้ การทำให้ที่แห่งนี้ปลอดบุหรี่และมีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศไทย เป็นเป้าหมายใหญ่ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ต้องการทำให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดีรอบด้าน ซึ่ง ‘การสูบบุหรี่’ เป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายพยายามรณรงค์ให้ประชาชนลด ละ เลิกมาโดยตลอด เพราะเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเพิ่มอัตราผู้ป่วยมะเร็งปอดในประเทศไทย

แม้ผลการสำรวจสถานการณ์สูบบุหรี่ล่าสุด จากสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2564 พบว่าคนไทยในมีแนวโน้มสูบบุหรี่น้อยลง เหลือเพียง 9.9 ล้านคน คิดเป็น 17.4% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ศาสนสถานของทุกศาสนายังพบการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะมากถึง 21% และภาคใต้พบคนสูบบุหรี่มากที่สุดในประเทศไทย อยู่ที่ 22.4% สะท้อนให้เห็นความเสี่ยงต่อสุขภาวะอย่างชัดเจน

              ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. เผยข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขไทย ปี 2564 ว่า ทุกปีมีคนเสียชีวิตจากพิษภัยบุหรี่มากกว่า 80,000 คน คิดเป็น 18% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้มีคนที่เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองกว่า 6,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 352,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้ต้องรวมพลังภาคีเครือข่ายทำให้สังคมไทยปลอดบุหรี่ให้มากที่สุด

ทำให้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา สสส. จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรมญันนะตีย์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ขึ้นมา เพื่อยกระดับมัสยิดภาคใต้ให้เป็นศาสนสถานยุคใหม่ที่ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง

“การร่วมลงนาม MOU กับภาคีเครือข่ายครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มัสยิดใน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 90 แห่ง เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ที่มีมาตรฐานเดียวกันเพื่อลดคนป่วยและเสียชีวิตทางภาคใต้”

สำหรับทิศทางการดำเนินงานให้มัสยิดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ที่มีมาตรฐานเดียวกัน ของ สสส. เริ่มต้นจากการถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ และจัดกิจกรรมรณรงค์ให้มัสยิดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่อย่างถาวร ขณะที่องค์การสหประชาชาติ ให้คำแนะนำการควบคุมยาสูบของไทยว่า ถ้าจะทำให้มีประสิทธิภาพต้องใช้เงินลงทุน 2,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งน้อยกว่า 1% ของความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่ หากทำได้เชื่อว่าภายใน 15 ปี จะช่วยลดคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 35,790 คน ลดคนป่วยจากโรคไม่ติดต่อ 169,117 คน

             อีกแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ร่วมทำให้มัสยิดภาคใต้เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่คือ ‘มูลนิธิสร้างสุข’ โดย ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สะท้อนมุมมองว่า ‘มัสยิด’ ควรมีบทบาทสำคัญควบคุมการสูบบุหรี่ โดย 10 ปี ได้พัฒนาพื้นที่ให้เกิดมัสยิดปลอดบุหรี่ต้นแบบทุกภูมิภาค 847 แห่ง คิดเป็น 21% ของมัสยิดทั่วประเทศ สำหรับการลงนามความร่วมมือ เพื่อต้องการทำให้ 5 มัสยิดปลอดบุหรี่ในจังหวัดภาคใต้ใช้มาตรฐานเดียวกันในการบริการจัดการ

หลักเกณฑ์ที่ทุกมัสยิดที่เข้าร่วมจะต้องทำ คือ พื้นที่รอบมัสยิดต้องมีพื้นที่ปลอดบุหรี่ไม่น้อยกว่า 10 เมตรและต้องมีมาตรการควบคุมยาสูบเป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงมีกระบวนการช่วยเลิกบุหรี่ เช่น เชิญชวนให้เลิกบุหรี่ การให้คำปรึกษา ที่สำคัญจะต้องมีการเทศนาทุกวันศุกร์เรื่องการต้านสิ่งมึนเมา (คุฏบะฮ์ลาคอมรฺ) หรือเทศนาต้านบุหรี่และยาสูบตามหลักศาสนา และต้องส่งเสริมเรื่องการมีมุมให้ความรู้พิษภัยบุหรี่โดยจัดนิทรรศการในมัสยิด

เสียงสะท้อนจากนายอีซา มูเก็ม ตัวแทนมัสยิดฮาลีมาตุสสะดียะห์ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หนึ่งในมัสยิดต้นแบบปลอดบุหรี่ เล่าความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมว่า มัสยิดฮาลีมาตุสสะดียะฮ์ ปลอดบุหรี่ 100% ที่ผ่านมาได้ขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียงให้ส่งเสริมการลด ละ เลิกบุหรี่ได้มากขึ้น มีร้านค้าในรัศมี 50 เมตรจากมัสยิดสนใจ เข้าร่วมพื้นที่ปลอดบุหรี่ 5 ร้านค้า และมีชุมชนร่วม 3 แห่ง คนในชุมชนมากกว่า 50% ลดจำนวนการสูบบุหรี่ลงได้ โดยมีกรรมการ 6 คนเลิกบุหรี่ถาวรเพื่อเป็นตัวอย่าง

            “ในฐานะคนที่อยู่ในพื้นที่ เห็นว่าการร่วมลงนามใน MOU ครั้งนี้ จะเพิ่มเติมมาตรการให้เข้มข้นขึ้น โดยมุ่งเน้นการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องอันตรายของยาสูบในช่วงการละหมาดทุกวันศุกร์ และส่งเสริมการให้คำปรึกษาช่วยเลิกบุหรี่”

ปลายทางการทำ ‘มัสยิดปลอดบุหรี่’ ของ สสส. คือสร้างสรรค์พื้นที่ทางศาสนาให้เป็นขบวนการสร้างเสริมสุขภาวะอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ดึงชุมชนให้เข้าใจและเข้าถึงความรู้ทางสุขภาพที่เข้าใจง่าย ผ่านวิธีการที่ชาวชุมชนจับต้องได้ การทำให้เกิดการลด ละ เลิกบุหรี่ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาให้ทุกคนมีชีวิตดีทั้งกายและใจ หากทำได้จะเป็นปลายทางที่ช่วยให้ปัญหาสุขภาพในระบบสาธารณะลดลงได้อีกทาง