NIA ร่วมกับ สมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย (Health Tech Startup Thailand) จัดงาน AI Empower for Health and Medical Sector 2023 สำหรับพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในธุรกิจการแพทย์และสุขภาพด้วยเทคโนโลยี AI

ผ่านไปด้วยดีกับ งาน AI Empower for Health and Medical Sector 2023 งานสัมมนาสร้างความร่วมมือและผลักดันการใช้เทคโนโลยี AI ในวงการแพทย์และสุขภาพของไทย ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และ สมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย (Health Tech Startup Thailand) โดยงานนี้ได้รับความสนใจจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สตาร์ทอัพด้านการแพทย์และสุขภาพ มาร่วมกิจกรรมกว่า 80 ท่าน นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live เพื่อเปิดให้ผู้สนใจได้เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นแบบเรียลไทม์ได้ด้วย

งานสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณพงษ์ชัย เพชรสังหาร นายกสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทยคนใหม่ ขึ้นกล่าวต้อนรับเปิดงาน และต่อด้วยกิจกรรมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเวทีให้ความรู้ด้านการสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จากรัฐบาล และอธิบายภาพรวมเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์สำหรับสายงานด้านการแพทย์และสุขภาพ เวทีเสวนาด้านการนำ AI มาประยุกต์ใช้และประเด็นด้านการควบคุมการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้กับการแพทย์และสุขภาพ กิจกรรม Workshop ระหว่างผู้เข้าร่วมงานในหัวข้อการสร้างความร่วมมือและผลักดันการใช้เทคโนโลยี AI ในธุรกิจทางการแพทย์และสุขภาพของประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี การเติบโตของธุรกิจให้ก้าวเข้าสู่แหล่งเงินทุนที่เหมาะสมต่อทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ทีม AI Startup ด้านการแพทย์และสุขภาพทั้ง 10 ทีมขึ้นมานำเสนอผลงาน ไอเดียและนวัตกรรมที่น่าสนใจแก่นักลงทุน กลุ่มลูกค้าที่สนใจด้าน AI รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในวงการ AI Health Tech และปิดท้ายด้วยกิจกรรม Networking เพื่อเปิดให้ผู้เข้าร่วมได้พูดคุยสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่สามารถนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจได้

ภาครัฐหนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ หวังสร้างโอกาสในการแข่งขันเชิงธุรกิจ

นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวบรรยายภาพรวมการสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จากภาครัฐว่าในฐานะที่ NIA เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น “Focal Facilitator” ที่เชื่อมต่อเทคโนโลยีและธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยเงินทุนสนับสนุนของ NIA นั้นเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการพัฒนาต่อยอดผลงานจากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่ง NIA ได้ร่วมพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการในธุรกิจการแพทย์และสุขภาพผ่านทุนนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า หรือ Thematic Innovation ซึ่งจากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงนับว่าเป็นความท้าทายของทั้งผู้ประกอบการ และเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมไปด้วยกัน

และได้รับเกียรติจาก นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ โฆษกรัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษาสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย กล่าวถึงภาพรวมเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์สำหรับสายงานด้านการแพทย์และสุขภาพว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี AI กับการแพทย์ได้เริ่มพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพัฒนามาจาก 3 องค์ความรู้หลักสำคัญคือ ด้านเทคโนโลยี AI ด้านการแพทย์ และด้านการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ และในยุคที่ AI กำลังเฟื่องฟูนี้ Chatbot ในวงการการแพทย์และสุขภาพเป็นเทคโนโลยีที่เป็นที่จับตามองเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีให้มีการเติบโตได้ จำเป็นต้องพัฒนาให้บุคลากรมีแนวคิดในการยอมรับเทคโนโลยี (Accept) นำเทคโนโลยีมาใช้ (Adopt) และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเหมาะสม (Adapt) ส่งผลให้เทคโนโลยีสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ดียิ่งขึ้นต่อไปได้

คุณพงษ์ชัย เพชรสังหาร นายกสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทยคนล่าสุด และ CEO and Co-founder Dietz.asia ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของอาเซียนและของโลก จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการยกระดับการแพทย์และสุขภาพของไทยต้องการให้ทุกฝ่ายใน Ecosystem มาร่วมพูดคุยถึงปัญหาและแนวทางแก้ร่วมกัน เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้าน AI ทางการแพทย์และสุขภาพ อีกทั้งยังสามารถนำเอาองค์ความรู้มาพัฒนาศักยภาพการแพทย์และสุขภาพ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศได้

การนำ AI มาใช้จริงในมุมมองของผู้ให้บริการและผู้พัฒนา

            ในช่วงนี้ได้รับเกียรติจากผู้ร่วมเสวนาสองท่าน ได้แก่ ดร.พัชรินทร์  บุญยะรังสรรค์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เครือโรงพยาบาลเอกชนระดับต้น ๆ ของ South East Asia ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้จำนวนมาก และคุณดนัย เทพธนวัฒนา Account Technology Strategist Microsoft ตัวแทนจากองค์กรเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่ร่วมลงทุนใน OpenAI

ปัจจุบันทาง Microsoft ได้มีการลงทุนและพัฒนา AI มาอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ CHAT GPT 4 สามารถเข้าใจรูปภาพได้และมีชุดข้อมูลความเข้าใจที่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ AI จึงเป็นจุดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และในฝั่งของทาง BDMS ก็มีการใช้ AI มานานแล้วโดยเริ่มใช้กับเรื่องที่ต้องการความแม่นยำ ลดความผิดพลาดและสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การอ่านผล X-ray ปอด เต้านม สมอง และอวัยวะต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ในการคาดการณ์การระบาดของโรคในระดับภูมิภาคหรือประเทศ จากผลของห้องแลปที่มีอยู่ในระบบอีกด้วย

โดยประเด็นสำคัญที่วิทยากรให้ความสนใจ คือ เรื่องฐานข้อมูลที่จะต้องมีมากพอและเชื่อถือได้ ข้อมูลจำเป็นต้องมีที่มาที่ไป จึงจะสามารถพัฒนาต่อไปได้ ทั้งนี้ควรจะให้ความสำคัญกับเส้นทางของผู้บริโภคว่าจะสามารถนำ AI มาปรับใช้ในส่วนไหนอย่างไรได้บ้างให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนการให้บริการหลังบ้านของโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลก็พร้อมที่จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ โดยมองในประเด็นที่ทำให้กระบวนการให้บริการง่ายและสะดวกขึ้น ในฐานะที่ไทยเป็น Tourist Destination การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญหากพัฒนาแล้วนำ AI เข้ามาช่วยในส่วนนี้ให้ง่ายและแม่นยำยิ่งขึ้นก็จะเป็นส่วนช่วยลดช่องว่างการสื่อสารได้

ซึ่งประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เข้าร่วมได้อภิปรายกันถึงปัญหาหลักในการนำ AI มาใช้ด้านการแพทย์และสุขภาพ คือ เรื่องข้อมูลที่มีอยู่ในตอนนี้น้อยเกินไป ขาดความน่าเชื่อถือ และยังขาดมาตรฐาน โดยเสนอให้มีตัวกลางในการควบคุมดูแลและสนับสนุนเรื่อง Sharing Data รวมถึงการทำ Data Standardization การใช้เทคโนโลยีมาช่วยเก็บและจัดการข้อมูลให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

ประเด็นการควบคุมและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ

นางภาวิณี ส่งเสริม เภสัชกรชำนาญการ และนายปริวัฒน์ ชูชาติ วิศวกรปฏิบัติการ (ชีวการแพทย์) จากกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักคณะกรรมการอาหารและยา โดย กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมาทางกองเครื่องมือแพทย์ได้มีการปรับการควบคุมตามระดับความเสี่ยง โดยเครื่องมือแพทย์ที่เป็น AI หรือ software ทางการแพทย์จะจัดอยู่ในประเภท 2 และ 3 เป็นประเภทที่ต้องใช้ใบรับแจ้งรายการละเอียด และจะต้องจัดเตรียมเอกสารแบบ Common Submission Dossier Template (CSDT) เพื่อยื่นประเมิน โดยจะมีศูนย์ส่งเสริมการประกอบการเครื่องมือแพทย์คอยให้คำปรึกษา และปัจจุบันกำลังพัฒนา Regulatory sandbox เพื่อสร้างแนวทางกำกับดูแล AI software โดยเฉพาะ

นพ.อนุวัตร สุขสมานพาณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ด้านเทคโนโลยี กล่าวเพิ่มเติมว่า แพทยสภาได้เล็งเห็นปัญหาเรื่องการขาดความรู้ความเข้าใจใน technology และการใช้ AI จึงกำลังสร้างหลักสูตรเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความเข้าใจในด้าน AI และ Digital services รวมไปถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปรับกฎหมายฉบับใหม่เรื่อง Telemedicine ที่เป็นกฎหมายเฉพาะ ให้ Virtual Clinic สามารถให้บริการบน Platform ได้โดยไม่ต้องอยู่ที่โรงพยาบาล อีกทั้งยังให้ความสำคัญในการผลักดันการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อนำไปใช้งานต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้กล่าวว่าทาง ETDA ก็กำลังศึกษาและพัฒนาหลักการในการกำกับ AI อย่างไรให้ยืดหยุ่นพอที่จะไม่ไปสกัดกั้น Innovation และเน้นออกกฎในแนวทางส่งเสริมก่อน เช่น กฎหมายส่งเสริมด้าน Data sharing และส่งเสริมให้ออกกฎหมายเน้นทดสอบด้าน Performance มากกว่าด้าน Process เป็นต้น

ประเด็นที่ยังจำกัดในการนำ AI มาใช้ คือ

  • ประเด็นด้านการขึ้นทะเบียน โดยทางกองเครื่องมือแพทย์จะรับขึ้นทะเบียนเฉพาะ AI แบบ Lock (AI ที่เรียนรู้เสร็จเรียบร้อย ก่อนขึ้นทะเบียนและออกสู่ตลาด) และ AI ที่ทำหน้าที่เสมือนเครื่องมือช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาหรือวินิจฉัยเท่านั้น
  • ประเด็นด้านการขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ในการประเมินเครื่องมือทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับ AI ยังขาดผู้เชี่ยวชาญในการตรวจและให้คำปรึกษาเฉพาะด้านอยู่มาก
  • ประเด็นการกำหนดมาตรฐานของข้อมูล ให้มีการนำเทคโนโลยีและข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาใช้
  • ประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวที่ยังต้องพัฒนาการควบคุมต่อไป

แชร์มุมมองและประสบการณ์ในการทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ทางการแพทย์

อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ช่วงที่จะเชิญบริษัท provider ด้าน AI ทางการแพทย์ขึ้นมาแชร์มุมมองและประสบการณ์ ในการพัฒนาธุรกิจที่มีเทคโนโลยี AI เป็นแกนหลักในการสร้างสรรนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพของไทย

            โดยเริ่มจาก ผศ.ดร. ธีรวิทย์ วิไลประสิทธิ์พร อาจารย์ประจำ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และ CEO and CTO, Sense AI Company Limited (SensAI) ที่เริ่มต้นจากทีมวิจัยชื่อ Interfaces เน้นศึกษาเกี่ยวกับการวัดคลื่นสัญญาณสมอง และการวัดสัญญาณชีพต่าง ๆ ทางร่างกาย ไปจนถึงเริ่มศึกษาด้าน AI โดยได้กำหนดแนวทางของทีมวิจัยให้เหมือนเป็นตัวเชื่อมระหว่างด้าน Physical กับ Digital และตั้งแต่ช่วง 2020 เป็นต้นมา sensor ซึ่งเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งเพื่อใช้วัดและเก็บข้อมูลได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึง infrastructure ต่าง ๆ ที่มีราคาถูกลง จึงเป็นโอกาสให้ผู้ให้บริการสร้างสรรบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น โดยตัวอย่างกลุ่มเทคโนโลยีที่ทาง Sense AI พัฒนาอยู่มีดังนี้

– AI in Brain-Computer Interfaces : วัดคลื่นสัญญาณไฟฟ้าสมอง และนำมาจับการประมวลผลว่าสมองมีการ Commands อะไร และสามารถรับ Feedbacks ได้หลายรูปแบบ เมื่อมีการวัดและ Feedbacks เรื่อย ๆ ทำให้ระบบสามารถจำแนกประเภทสัญญาณสมองได้ นอกจากนี้ AI ยังเข้ามาช่วยกำจัด noise หรือคลื่นสัญญาณที่ไม่เป็นประโยชน์ให้อัตโนมัติ

– AI in Sleep Medicine : ใช้สัญญาณ Sensor ช่วยวัดและวิเคราะห์การนอนโดยนำมาเทียบกับมาตรฐาน Sleep Test สากล โดยนำ AI มาช่วยในการอ่านค่า ช่วยประหยัดเวลาให้แพทย์ในการวิเคราะห์ผล

– AI in Biomedical Imaging : OCTAve ให้ AI ช่วยประมวลผล รูปภาพที่แพทย์ร่างขึ้นมาให้มีความสมบูรณ์สวยงามมากขึ้น และยังมี CB-AI ดูเซลล์ต่าง ๆ ในเนื้อเยื่อถึงการตอบสนองของการรักษา

– AI in Remote Healthcare : เนื่องจากในช่วง COVID-19 จึงพัฒนาเป็น Telemed Platform ที่ใช้ AI มาช่วย ไม่ว่าจะเป็น Pacman AI ตัวช่วยจับค่า vital signs ต่าง ๆ มากรอกเก็บเป็นประวัติให้อัตโนมัติ หรือจะเป็น Platform Telemedicine CHIVID ที่เป็นตัวช่วยในการรักษาคนไข้ทางไกลมาแล้วมากมาย

ดร. วินน์ วรวุฒิคุณชัย ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้ง BOTNOI Group

BOTNOI Group มีพื้นฐานหลักมาจากบริษัทที่ให้บริการด้าน AI และมีลูกค้าทางด้าน Healthcare อยู่มากจึงพัฒนาเป็น BOTNOI Health ที่ให้บริการ AI สำหรับการแพทย์และสุขภาพโดยเฉพาะ และมีแนวทางที่จะเป็นเสมือนสะพานที่จะเชื่อมโยงกลุ่ม Healthtech Startup ต่าง ๆ กับโรงพยาบาล โดยมองเห็นถึงการแลกเปลี่ยนจุดแข็งของตัวเองที่ทั้งสองกลุ่มมีมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของ BOTNOI Health ได้แก่

– Communication Service: Chatbot-Voice-Video ที่ช่วยในการคัดกรองคนไข้ที่โรงพยาบาล การนำ AI มาช่วยตรวจสอบสิทธิประกันด้วยการโต้ตอบด้วยเสียง และการนำ AI มาเป็นล่ามแปลพร้อมเพื่อใช้ในการสื่อสารทางการแพทย์

– Assist Service: Medical device/ AI mirror ช่วยตรวจจับเครื่องมือแพทย์ ช่วยคนตาบอดในการเลือกเสื้อผ้า และการนำ AI มาช่วยสรุปใจความสำคัญข้อความ

– Restore/Therapy: การนำ AI มาตรวจจับโครงกระดูกเพื่อช่วยในการทำกายภาพ และ Voice Recover การนำ AI มาช่วยเติมเต็มเสียงของผู้ป่วยที่พูดได้ลำบาก

– Training: การนำ AI Chatbot มาเป็นคนไข้เพื่อใช้ในการฝึกนักศึกษาแพทย์

คุณเสฐียรพงศ์ จึงอุดมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินดิสทิงท์ จำกัด

ปัจจุบันความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัว และวิธีการยืนยันตัวตนผ่านช่องทางต่าง ๆ ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้มิจฉาชีพสามารถนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ดีได้ อีกทั้งยังมีประเด็นปัญหาด้าน Digital security ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศมาตรการสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนก่อนโอนเงินในวงเงินที่เกินกำหนด โดยข้อดีที่นำ Biomatrix มาใช้นั้นมีความปลอดภัยแต่ยังมีปัญหาสร้างความยากลำบากให้ผู้มีปัญหาทางสายตาที่ไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้

ทาง InDistinct จึงพัฒนานำเทคโนโลยี AI ตรวจจับข้อมูลบนบัตรประชาชนได้สมบูรณ์ 100% ผ่านการใช้โทรศัพท์สแกนบัตรประชาชน ซึ่งนอกจากจะปลอดภัย และง่ายต่อการใช้งานสำหรับทุกฝ่ายแล้ว ยังมีต้นทุนที่ถูกกว่าเทคโนโลยี Face detection

คุณชัยวัฒน์ พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด Perceptra มี mission ที่จะนำ AI มาเชื่อมกับวงการแพทย์ทั้งในไทยและ South East Asia และทำราคาให้จับต้องได้ โดยผลิตภัณฑ์ปัจจุบันมี 2 ตัว คือ Inspectra CXR ใช้ตรวจวิเคราะห์การ X-ray ปอด และ  Inspectra MMG ใช้ตรวจวิเคราะห์ Mammogram และกำลังพัฒนา Inspectra CTB สำหรับตรวจวิเคราะห์ CT brain

และได้กล่าวเสริมถึง 5 ข้อกังวลในการที่ผู้ใช้งานจะเลือกใช้ AI มีดังต่อไปนี้

  1. Accuracy & Validation มีความถูกต้องแม่นยำไม่ว่าจะใช้ในเงื่อนไขที่ต่างกัน และตอบโจทย์ผู้ใช้งาน
  2. Solution Integration ใช้งานง่าย ยืดหยุ่นสามารถ customized ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้
  3. Security and privacy มีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสอดคล้องตามกฎ
  4. IT burden มีทีมพร้อมsupport ให้บริการการใช้งาน และอบรมการใช้งาน
  5. Cost ราคาจับต้องได้สอดคล้องและเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ บริการ และผู้ใช้งาน

รวม Startup สาย AI Health Tech มา Pitching สู่สายตานักลงทุน

ในกิจกรรมรองสุดท้ายได้เปิดโอกาสให้ Startup ที่กำลังทำเกี่ยวกับด้าน AI ทางการแพทย์และสุขภาพ มาร่วมนำเสนอผลงาน หรือ Pitching โดยผ่านการคัดเลือกมาทั้งหมด 10 ทีมด้วยกัน

  • SensAI – พัฒนาระบบ AI และ sensor ติดตามข้อมูลสุขภาพและวิเคราะห์ความผิดปกติ เรียนรู้พฤติกรรม เพื่อรายงานความผิดปกติและแจ้งเตือนให้แพทย์ทราบ ช่วยให้ได้รับการรักษาทันเวลา และราคาไม่แพงมาก คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
  • Botnoi group – มีเทคโนโลยีด้าน AI ครบทั้ง 5 ด้านดังนี้ NLP , Data Science , Motion , Visual , Audio โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เช่น AI Screening Kiosk พัฒนาพยาบาลเสมือนจริงใช้คัดกรองโรค และ Chatbot พัฒนาให้สามารถให้คำปรึกษา สามารถคุยเรื่องสุขภาพจิตได้ทั้งแชทและโทรศัพท์ นอกจากนี้ยังโต้ตอบภาษาอื่น ๆ ได้อีกด้วย
  • Aot (Alert of thing) – พัฒนา wrist band AI for health ที่มี sensor เพียง 3 ตัว ตรวจสอบชีพจร ความดัน และอุณหภูมิ หากมีการจับค่าที่เป็นอัตราย wrist band จะแจ้งเตือนทันที รวมไปถึงการสแกน QR เพื่อดูประวัติข้อมูลเจ้าของได้ และยังสามารถวัดระดับน้ำตาลได้เพื่อช่วยเตือนผู้ป่วยเบาหวาน
  • LOCKSi – Medipod สถานีโทรเวชกรรม (Portable Telemedicine Platform) โดยจะเชื่อม sensor และการช่วยวิเคราะห์ผลด้วย AI กับอุปกรณ์การแพทย์ และระบบ video conference กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงของข้อมูลนำไปสู่การรักษาแบบ Telemedicine ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกที่ ทุกเวลา
  • H LAB – นำ AI เข้ามาช่วยจัดตารางเวรของบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากสามารถจัดข้อมูลที่ซับซ้อนได้ และช่วยร่นระยะเวลาในการจัดตารางแบบปกติ ซึ่งใช้เวลา 2-3 วันในการจัดตารางในแต่ละเดือน และนอกจากนี้ยังเป็นการลดภาระให้พยาบาลได้มี Work life balance มากขึ้น
  • PB Biomed – ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีในการกรองสารพันธุกรรม และถอดรหัสยีนส์จากเลือด เพื่อรักษาหรือป้องกันโรคมะเร็ง โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดกับบริษัท AI เพื่อนำไปสร้างนวัตกรรมอื่น ๆ ได้
  • Famme Works – พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเตียงนอนด้วยเทคโนโลยี pressure re-balancing ใช้ Sensor ในการตรวจจับและปรับน้ำหนักกดทับของเตียงให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บหรือการกดทับของแผลผู้ป่วย
  • EYEQUILA – พัฒนาเกมช่วยออกกำลังกายตาโดยใช้ AI tracking eye ซึ่งจะเปลี่ยนการเคลื่อนไหวของดวงตาเป็นการเคลื่อนไหวของเกมช่วยกระตุ้นการทำงานของตา โดยสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ตลาดเครื่องมือแพทย์โดยใช้การเคลื่อนไหวของสายตาเป็นคำพูดแสดงความรู้สึกของผู้ป่วยได้
  • Bederly – พัฒนาระบบ Bederly ecosystem เชื่อมโยงข้อมูลตั้งแต่ระดับตำบล ชุมชน บุคคล ให้ข้อมูลเชื่อมต่อกันได้อย่างไร้รอยต่อ โดยใช้ Portable Vital Signs ในการเก็บข้อมูลลงในแอปพลิเคชั่นเพื่อให้แพทย์จะมีสามารถ monitor ผู้ป่วยได้ รวมไปถึงใช้ AI ในการช่วยแพทย์คัดกรองและติดตามสุขภาพของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ
  • Brain Dynamics – พัฒนาระบบและบริการตรวจการนอนหลับให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นสามารถตรวจได้ทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้าน โดยข้อมูลจากการตรวจ สามารถนำมาเป็น Data ให้ AI ช่วยแพทย์วิเคราะห์การอ่านผลของคนไข้ได้ไวมากขึ้น

สำหรับงาน AI Empower for Health and Medical Sector 2023 ที่เกิดจากความร่วมมือของ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นทั้งทางภาครัฐและเอกชน ผู้ให้บริการ ภาคธุรกิจและผู้ใช้บริการ รวมไปถึงนักลงทุน ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางด้านการแพทย์ให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สามารถแข่งขันในตลาดโลก และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ