สดช. จัดประชุมกับผู้แทนจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อพัฒนามาตรฐานทักษะวิชาชีพปัญญาประดิษฐ์

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูล ระหว่างผู้แทนสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยมี นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุม 202 ชั้น 2
โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลระหว่างผู้แทนสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอมาตรฐานทักษะวิชาชีพ ICT สำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยได้ดำเนินการเปิดพื้นที่ให้ผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจเอเปค แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางส่งเสริมทักษะวิชาชีพปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นมาตรฐานร่วมกัน
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี AI ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และพัฒนาการแข่งขันของทุกภาคส่วน ในส่วนของเทคโนโลยี AI ของประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้าน AI เพื่อการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา แผนฯ ดังกล่าวจัดทำขึ้น เพื่อกระตุ้นการพัฒนา AI ซึ่งทำให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตในสังคม นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมจริยธรรมด้าน AI จึงได้ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จัดทำแนวปฏิบัติจริยธรรม AI เพื่อสร้างความมั่นใจในการพัฒนาประเทศไทยให้อยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบที่มีความโปร่งใส เท่าเทียมและเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนรวมถึงกลุ่มเปราะบางในสังคมอีกด้วย

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สดช.เป็นกำลังหลักในการจัดทำมาตรฐานทักษะวิชาชีพ ICT จำนวน 11 วิชาชีพ ซึ่งครอบคลุมทักษะ ICT ต่างๆ เช่น การพัฒนาซอฟท์แวร์ (SOFTWARE DEVELOPMENT) ข้อมูลขนาดใหญ่ (BIG DATA) โดยปัญญาประดิษฐ์
(ARTIFICIAL INTELLIGENCE หรือ AI) เป็นมาตรฐานล่าสุด โดยมาตรฐานทักษะวิชาชีพเหล่านี้ได้รับการรับรองจากอาเซียน และประเทศสมาชิกแต่ละประเทศได้นำไปเชื่อมต่อกับมาตรฐานทักษะวิชาชีพของตนเอง จึงได้นำไปใช้ในการจ้างงานระหว่างประเทศทำให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินระดับของทักษะแรงงานตามมาตรฐาน ทั้งนี้ สดช. ได้เตรียมการร่วมมือกับสมาชิกเอเปคเพื่อส่งเสริมการจ้างงานระดับนานาชาติและตลาดแรงงานระดับโลก รวมถึงส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีในประเทศไทย