หมวก 2 ใบของ ‘นิติ เมฆหมอก’ นายก ‘ส.ไทยไอโอที’ เพื่อนคู่คิด Start UP – SMEs ประธานฯ SYNHUB ศูนย์รวมเทคโนโลยีดิจิทัล

เมื่อเอ่ยชื่อของ “นิติ เมฆหมอก” แวดวงเทคโนโลยียอมรู้จักกันดีในบทบาทของ นายกสมาคมไทยไอโอที (Thai IoT) และนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในกลุ่มธุรกิจดิจิทัลในฐานะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ บริษัท ซีนเนอร์ยี่ อินโนเวชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับด้านอิเล็กทรอนิกส์ และไอโอที เกี่ยวกับบริการให้คำปรึกษาด้านเทคนิคและธุรกิจ การออกแบบผลิตภัณฑ์และการเพิ่มประสิทธิภาพของลูกค้า และการจับคู่กับนักลงทุนที่เหมาะสม ปัจจุบันลูกค้ามีทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกลุ่มลูกค้าหลัก คือ ประเภทไฟรถยนต์ ออโต้โมทีฟ ทำงานให้กับลูกค้าญี่ปุ่นเป็นหลัก

ผู้ก่อตั้ง SYNHUB Digi-Tech Community  ศูนย์บ่มเพาะที่ต้องการเห็นสตาร์ทอัพไทย มีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจทั้งในระดับประเทศและระดับสากล SYNHUB เป็นชุมชนเทคโนโลยีดิจิทัลที่เชี่ยวชาญด้านบริการ INCUBATION & ACCELERATION สำหรับทั้งสตาร์ทอัพและ SMEs ที่ต้องการปรับผลิตภัณฑ์/บริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ หรือเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นส่วนหนึ่งของ INNOVATIVE SPACE

CIO Talk จะพาไปสนทนากับ “นิติ เมฆหมอก”  ผ่าวิสัยทัศน์ของการบริหารทั้งมุมมองในฐานะของ นายกสมาคมไทยไอโอทีและประธานฯ SYNHUB  ย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมงานกับบริษัทสตาร์ทอัพและแผนการยกระดับ SMEs  ไทย

“ย้อนไปเมื่อ 7 – 8  ปีก่อน บริษัทต่างประเทศแห่งหนึ่งมองหาบริษัทที่จะผลิตงานให้ ซึ่งในปัจจุบันลูกค้ากลุ่มสตาร์ทอัพที่ใช้บริการมีทั้งภายในประเทศ เราต้องการเชื่อมโยงรัฐบาลและคนไทยที่ต้องการสร้างสตาร์ทอัพขึ้นมา ซึ่งบางคนเริ่มจากความคิดแต่ต้องการคำแนะนำและบ่มเพาะเพื่อต่อยอดให้เกิดได้จริง หรือแม้กระทั่งมีความคิดและมีตัวต้นแบบแล้วแต่ยังต้องการเงินทุนและการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้น เพื่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน”

นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้เปิดพื้นที่ให้เช่าทั้งในรูปแบบของ Virtual Office หรือสำนักงานเสมือนจริง ที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน  ส่วน Co-working Space พร้อมรองรับระบบนิเวศด้านนวัตกรรมสำหรับเวิร์กช็อปและงานจัดแสดง และยังมีห้องสัมมนาจัดเลี้ยงไว้รองรับตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์อีกด้วย

 

SYNHUB สะพานเชื่อม ธุรกิจกับธุรกิจ

SYNHUB จะเป็นเหมือนออแกไนเซอร์ที่เข้าไปช่วยหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สสว. สสส. ฯลฯ ช่วยจัดกิจกรรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพหรือ SMEs

“ที่ผ่านมาศูนย์บ่มเพาะมีเฉพาะในหน่วยงานภาครัฐ ปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่เปิดโอกาสให้เอกชนยื่นเรื่องเข้าทำงานได้ ซึ่ง SYNHUB ก็ได้ส่งเข้าไปพร้อมกับภาคเอกชนอีก10 แห่ง ซึ่งเราก็ได้รับเลือก โดยเริ่มจากการรีครูตสตาร์ทอัพเข้ามาและบ่มเพาะให้กลายเป็นมืออาชีพที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี  นอกจากนี้ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยังได้จัดทุนชื่อ TED Fund เป็นทุนให้กับนิสิตนักศึกษา ที่มีนวัตกรรมเป็นสตาร์ทอัพและขอทุนได้  ซึ่งเราเองก็ได้เข้าไปร่วมพัฒนาด้วยด้วย โดยจะ​มีทุน 2 รอบต่อปี ต้องทำงาน  1  ปีเพื่อให้ได้ต้นแบบออกมา เพราะฉะนั้น SYNHUB จะคัดเลือกและบ่มเพาะให้ แต่ถ้าสตาร์ทอัพทีมไหนมีความสามารถ เราจะนำมาทำต้นแบบผ่าน บริษัท ซีนเทค หรือถ้าสตาร์ทอัพนั้นโดดเด่นและน่าสนใจมากเราก็พร้อมลงทุนด้วย”

 

ผลักดัน ‘สมาคมไทย IoT’ รุกจับมือกับหลากพันธมิตร

ทางด้านหน้าที่ของนายกสมาคมไทยไอโอที (Thai IoT) “นิติ” กล่าวว่า  “ทางสมาคมฯ มี Passion อยากสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพ หรือ SMEs ในระยะยาวเพราะจะเกิดประโยชน์มากจากหลายหน่วยงานที่เข้ามาเป็นพันธมิตร เพราะเห็นว่าเราสามารถเป็นตัวกลางเชื่อมโยงไปยังหลาย ๆ บริษัทที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญหลากหลาย” 

โดยสมาคมไทยไอโอที (Thai IoT) ก่อตั้งเพื่อมุ่งเน้นการสร้างความตระหนัก รับรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ ให้แก่ ผู้สนใจ นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักพัฒนา และนักประดิษฐ์ไทย ในการสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์และบริการ ด้วยเทคโนโลยีไอโอที และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องให้เกิดการใช้งานได้จริง และส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถและความเข้มแข็งในการวิจัย พัฒนา และการผลิต ของผู้ประกอบการไทย ให้สามารถวิจัย พัฒนา และผลิต ชิ้นส่วนอุปกรณ์ Hardware และ Software สำหรับรองรับเทคโนโลยี ไอโอที และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การค้า และการบริการของประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งระหว่างผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การค้า และ การบริการ ของประเทศไทย กับนักวิจัย สถาบันการศึกษาและหน่วยงานของรัฐ

ปัจจุบันมีสมาชิกสามัญประมาณ 40 บริษัท ที่เป็นบุคคลธรรมดา ประมาณ 40 คน  ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบันภาพรวมเรื่อง IoT คนทั่วไปรู้จักแค่ 30% แต่ด้วยสื่อองค์ความรู้ในปัจจุบันคาดว่าจะมีคนรู้จัก IoT เพิ่มขึ้น 50% โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างนักศึกษาในปัจจุบันที่เชื่อว่า 80% จะรู้จักเทคโนโลยี IoT แต่สำหรับคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป อาจจะยังไม่มากนักแต่แนวโน้มน่าจะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสมาคมก็ได้เข้าไปช่วยเสริมหลักสูตรเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้กับหลายสถาบันเช่นกัน”

นอกจากนี้ สมาคมฯ เอง ก็ต้องการสร้างความเชื่อมโยง สร้างระบบนิเวศให้ครบ ด้วยการจัดกิจกรรมหลาย ๆ กิจกรรม ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เข้ามาบรรยาย สร้างเวิร์กช็อป พูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ  สถาบันเพื่ออุตสาหกรรมสารสนเทศแห่งประเทศไต้หวัน Institute For Information Industry Taiwan ก็มองเห็นศักยภาพของประเทศไทย ที่มีความพร้อมความสามารถ จึงได้ร่วมจัดตั้งไทยแลนด์ไต้หวัน สมาร์ท พาร์ค (TTSP) ด้วยโซลูชั่นที่ไต้หวันมีการพัฒนานำหน้ากว่าประเทศไทย ที่จะสามารถเข้ามาแนะนำเสริมศักยภาพให้กับประเทศไทยได้

ทิศทางอนาคตช่วยยกระดับ Start UP

ที่ผ่านมาสมาคมไทยไอโอที มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง สิทธิพิเศษการเข้าร่วมอีเว้นต์ต่าง ๆ ของสมาชิก ถ้าซื้อผ่านสมาคมจะได้ส่วนลด การจัดงานสัญจร การจัดบรรยายเชิญอาจารย์ที่เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ หรือทางภาครัฐต้องการคนเข้าไปช่วยในเรื่องของงานวิจัย การจัดกิจกรรมร่วม เรายินดีให้ความร่วมมือเสมอ ซึ่งเป็นโอกาสของสมาคมฯ โดยจะพิจารณาดูว่าบริษัทไหนมีความพร้อมก็จะได้มีโอกาสทำงานกับภาครัฐ ซึ่งก็จะเป็นการประชาสัมพันธ์ตัวสมาชิกไปด้วย

ส่วนนโยบายหลักทั้งปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ จะมุ่งไปที่การช่วยยกระดับ Start UP  และ SMEs  ไทย ด้วยกระแสที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ Active จริงมีน้อย อยู่ที่ประมาณ 10%  หลายสตาร์ทอัพที่ล้มเลิก เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น  ไม่ตอบโจทย์ลูกค้า ขาดความยั่งยืน ขาดความรู้ ขาดประสบการณ์​และทักษะ

“สมาคมฯ เล็งเห็นว่าถ้า Start UP โตระดับหนึ่งต้องให้ SME เข้าไปช่วย ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม เกษตร การค้า จะมี SMEs ที่ทำธุรกิจรูปแบบคล้ายกับ Start UP นั้นๆ อยู่  ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายมีโอกาสได้รู้จักกัน จะช่วยเสริมธุรกิจของเขาได้ ทั้งการพัฒนาให้ข้อมูลความรู้ ร่วมลงทุนหรือดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ เหมือนเช่นธุรกิจใหญ่ ๆ ที่หากคุณไม่พัฒนาตัวเอง ไม่หาอะไรใหม่ ๆ เข้ามาเสริม ธุรกิจก็อาจไม่โต ซึ่งผมเองก็ใช้โมเดลธุรกิจแบบนี้ กับการดึง Start UP เก่ง ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ”

ปัจจุบัน Start UP จะเน้นไปทางธุรกิจอุตสาหกรรม Retail เป็นส่วนมาก แต่ด้วยสเกลที่ไม่ใหญ่มาก แต่มองว่าโอกาสของ Start UP ที่น่าสนใจคือ กลุ่ม Hardware ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาความสามารถความเชี่ยวชาญที่มากกว่าหลายอุตสาหกรรม แต่เชื่อว่าหากสามารถทำได้สำเร็จ จะเติบโตไปได้อีกนาน

“คนไทยเราต้องรุกทั้ง Hard Skill คือ องค์ความรู้เรื่องของเทคโนโลยี การที่จะอยู่รอดได้ต้องมี Innovation ที่แตกต่างจากผู้อื่น ซึ่งคนที่เห็นอะไรที่แตกต่างแล้วหยิบเอามาใช้ประโยชน์ได้ก่อนย่อมได้เปรียบ ส่วนทางด้าน Soft Skill นั้น จะเป็นเรื่องของการบริหารทีม การสื่อสาร ความเข้าใจ ซึ่งหากใครที่บกพร่องก็ต้องเสริมพัฒนาทักษะอยู่เสมอแล้วธุรกิจถึงจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นายกสมาคมไทยไอโอทีและประธานฯ SYNHUB กล่าวในที่สุด